โด๊ปยา

Doping in Sports: ว่าด้วยเรื่องของการใช้สารต้องห้ามในวงการกีฬา

กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ที่กรุงริโอฯ ที่กำลังจะจบลงนั้นมีเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่เกิดขึ้นก่อนการแข่งขันจะเริ่มเสียอีก นั่นก็คือการประกาศจากศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาโลกที่ยืนตามการตัดสินของทางคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลที่ห้ามมิให้นักกีฬาจากรัสเซียเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากมองว่าทัพนักกีฬาแดน “หมีขาว” ไม่มีความโปร่งใส แม้จะเป็นนักกีฬาคนพิการก็ตาม หลังองค์การต่อต้านสารต้องห้ามโลก (WADA) มีหลักฐานว่ารัฐบาลรัสเซียมีส่วนรู้เห็นในการช่วยนักกีฬาชาติตัวเอง ” โด๊ปยา ” มาตลอด

ล่าสุดก็เกิดกรณีอื้อฉาวขึ้นมาอีกจากการที่มี hacker ที่เคลมว่าเป็นกลุ่มคนจากรัสเซีย hack เข้าไปในระบบฐานข้อมูลของ WADA แล้วเอาข้อมูลบางส่วนของประวัติการตรวจสอบสารกระตุ้นของนักกีฬาจากสหรัฐฯ ออกมาเผยแพร่ ซึ่งมีชื่อของสองพี่น้องนักเทนนิสตระกูล Williams อยู่ด้วย แม้จะไม่พบข้อมูลที่สามารถเคลมได้ว่าทั้งสองมีการใช้สารกระตุ้น แต่ก็เป็นการหักหน้า WADA ครั้งใหญ่ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการแก้แค้นของทางรัสเซียที่ตัวเองโดนเล่นงานต่อเนื่องเรื่องของการปกปิดกระบวนการโด๊ปยาในช่วงที่ผ่านมา

doping-content
Credit: siamsport.co.th

กลับมามองทางฝั่งกีฬาไทยเราเอง ช่วงที่ผ่านมาก็มีเรื่องของสารกระตุ้นเข้ามาเกี่ยวข้องสร้างความตื่นตระหนกให้กับแฟนๆ กีฬาไทยไม่น้อยจากกรณีของน้องเมย์ รัชชนก อินทนนท์ นักกีฬาแบดมินตันของไทยเราที่โดนตรวจพบการใช้สารกระตุ้นประเภทต้องห้ามจากทัวร์นาเมนต์ อูเบอร์คัพ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา จนตอนแรกถูกพักรอคำตัดสินว่าจะได้ไปโอลิมปิกและโดนแบนหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดจากการตรวจสอบและพิจารณาข้อเท็จจริงก็โชคดีที่ไม่ถูกนับเป็นความผิด อันเนื่องมาจากใช้ในการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจริงๆ

กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีนะครับ เพราะว่าการเป็นนักกีฬาอาชีพนั้นทั่วสากลโลกให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในเรื่องนี้มากเลย ตอนแรกที่ข่าวน้องเมย์ออกมา ผมยังตกใจเลยว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีกระบวนการตรงไหนที่ทางสมาคม ทีมงาน และตัวนักกีฬาเองมองตกหล่นไปหรือเปล่า ที่ส่งผลให้มีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นได้ทั้งๆ ที่ใน level แบบนี้แล้วทุกอย่างควรจะรัดกุมมากที่สุด

doping-content1
Credit: Siamsport.co.th

อย่างหนึ่งเลยที่ผมคิดว่าทีมงานและคนที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬาจะต้องเตรียมตัวให้ดีก็คือ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของกฏเกณฑ์และข้อบังคับข้อยกเว้นต่างๆ ของทาง WADA ไม่มีอะไรดีไปกว่าการรู้อย่างทะลุปรุโปร่งและหาทางป้องกันความเสี่ยงในทุกรูปแบบที่อาจนำมาซึ่งสารต้องห้ามในระบบร่างกาย เพราะท้ายที่สุดแล้ว กฏ ก็คือ กฏ มันถูกเขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีประโยชน์อะไรกับการไปเถียงสิ่งที่ถูกเขียนไว้เป็น bible แล้ว ตัวอย่างกรณีของที่ Maria Sharapova โดนแบนจากการตรวจพบสารต้องห้ามที่เธออ้างว่าเกิดจากการใช้ยารักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่องโดยมิได้อ่านอีเมล์อัพเดตชนิดสารต้องห้ามต่างๆ ของ WADA ไม่เป็นผลดีต่อภาพของการเป็นนักกีฬาอาชีพหรอกครับ เพราะนั่นคือการแสดงออกถึงความไม่เป็นมืออาชีพ

ถ้าย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์และความเห็นของบรรดาผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีของน้องเมย์ช่วงที่เกิดกรณีดังกล่าว เราก็จะเห็นได้ครับว่าแม้แต่ผู้ใหญ่เองยังออกปากเลยว่า “เรายังไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะสารชนิดนี้อยู่ในตัวยามากมายหลายร้อยรายการ” นี่แหละครับ ตัวอย่างที่ผมบอกว่าความไม่ใช่มืออาชีพ เพราะนี่คือการบ่งบอกให้ทราบถึง “ความไม่รู้” อันเกิดจากการละเลยรายละเอียดต่างๆ

นอกจากนี้กรณีศึกษานี้ยังน่าสนใจตรงที่ว่า ผู้ใหญ่ในวงการเองก็ออกมาบอกว่า “สารที่พบ คาดว่าจะเป็นตัวยาสเตียรอยด์ ที่เมย์รับยารักษาก่อนไปแข่งขันที่จีน ซึ่งแพทย์ของทีมเป็นคนฉีดให้ แต่เป็นแพทย์รักษาอาการหัวเข่าที่ไม่ใช่แพทย์ด้านการกีฬา โดยก่อนฉีดยาเมย์ค่อนข้างกังวลกับการรักษา และพยายามสอบถามกับแพทย์ว่าสามารถฉีดได้จริงๆ หรือไม่ แพทย์ระบุว่าไม่มีปัญหา กระทั่งท้ายที่สุดก็ถูกตรวจพบ”  ซึ่งก็หมายความว่าการบริหารทีมงานแพทย์ที่ทำการรักษานักกีฬาของเรายังไม่มืออาชีพพอหรือเปล่า เพราะแพทย์ที่ทำการรักษาอาจไม่ใช่ผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาหรือมีลิสต์ของสารต้องห้ามสำหรับนักกีฬาอยู่ในมือ ส่งผลให้เจตนาดีเกือบกลายเป็นเจตนาร้ายไปแล้ว

น้องเมย์ ไม่ใช่กรณีแรกของนักกีฬาไทยนะครับที่เคยโดนตรวจพบสารต้องห้าม นักว่ายน้ำทีมชาติที่มีฉายาว่า “เจมส์บอนด์” หรือณัฐพงษ์ เกษอินทร์ ก็โดนตรวจพบสารต้องห้ามประเภทสเตียรอยด์ก่อนการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้วส่งผลให้ถูกแบนยาวถึง 4 ปี โดยปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุและที่มาของสารกระตุ้นที่พบในร่างกายดังกล่าวแต่อย่างใด มีเพียงแค่คำพูดจากผู้ใหญ่ในสมาคมฯ ว่า “ณัฐพงษ์ไม่เคยใช้สารโด๊ปดังกล่าว แต่อาจไปรับประทานอาหารที่มีสารโด๊ป ในช่วงโดนสุ่มตรวจพอดี”

ก็ต้องบอกนะครับว่า การคาดเดา ไม่ได้ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของวงการกีฬาแต่อย่างเดียว แต่ช่วงระยะเวลาที่เกิดความคลุมเคลือและข้อมูลไม่ชัดเจนไม่แน่ใจย่อมส่งผลต่อการเตรียมตัวและสภาพจิตใจของนักกีฬาด้วยอย่างแน่นอน และก็เป็นเรื่องปกติที่ความไม่สบายใจ ความกังวล ย่อมส่งผลต่อศักยภาพของนักกีฬาด้วย ซึ่งก็จะเป็นเพราะเรื่องนี้หรือเปล่าที่ทำให้น้องเมย์ พลาดท่าไปไม่ถึงเหรียญทองหรือขึ้นโพเดียมเป็นอย่างน้อยในโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา อันนี้ผมตอบไม่ได้ ต้องไปถามตัวนักกีฬากันเองครับ

แต่ในทางกลับกัน กรณีอย่างของ Lance Armstrong ก็น่าสนใจนะครับ เพราะพี่แกเล่นเจตนาใช้สารกระตุ้นและปกปิดความลับอยู่ได้ตั้งหลายปี คว้าตั้งหลายแชมป์ ถ้าเป็นคนจิตไม่นิ่งพอ ผมว่าก็มีโอกาสจิตแตกได้เหมือนกันนะครับ เพราะเหมือนมีความผิดติดอยู่กับตัว จะถูกเปิดโปงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่มีคนคอยดักคอและกล่าวหาเค้ามาตลอดแต่พี่แกก็ไม่หวั่นไหวเลยแม้แต่น้อย ก็หวังว่านักกีฬาไทยจะไม่มีกรณีแบบนี้ครับ อย่างน้อยปลอบใจตัวเองได้ว่า honest mistake ก็ยังดีกว่าตั้งใจทำผิดและร่วมกันปกปิดเหมือนอย่าง Lance Armstrong หรือนักกีฬารัสเซียครับ

ข้อมูลจาก: คอลัมน์ “เศรษฐา & กีฬา” ว่าด้วยเรื่องของ Doping โดยคุณเศรษฐา ทวีสิน (สยาม สปอร์ต รายวัน) วันที่ 16 กันยายน 2559

Related Articles

ความแตกต่าง

ความแตกต่างที่สร้างความได้เปรียบ: Diversity vs. Victory

ใครที่ติดตามวงการกรีฑาเชื่อว่าคงรู้จักนักวิ่งหญิงชาวแอฟริกาใต้ที่ชื่อว่า Caster Semenya ที่เคยชนะเลิศวิ่ง 800 เมตร การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนที่กรุงเบอร์ลิน ตอนนั้นเธอชนะคู่แข่งขาดลอยและเป็นที่เพ่งเล็งของวงการ เพราะโดนหาว่าได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นเนื่องจากมีฮอร์โมน Testosterone ของเพศชายมากกว่าปกติทำให้ร่างกายของเธอแตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปคือแข็งแรงและแกร่งกว่ามาก จากกรณีของเธอทำให้ระยะหลังๆ สมาพันธ์กรีฑานานาชาติ หรือ IAAF เริ่มสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อจำกัดไม่ให้นักกรีฑาหญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายดังกล่าวสูงเกินปกติได้เปรียบคนอื่นๆ ด้วยการบังคับให้ตรวจระดับฮอร์โมนเป็นระยะๆ

วิธีการนอน เคล็ดลับกระตุ้นฟอร์มของนักกีฬา

“การนอนหลับ” เรื่องใกล้ตัวของคนเราทุกคนที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน ไม่เว้นแต่นักกีฬาระดับโลกที่ต้องอาศัยการพักผ่อนที่ถูกต้องตามหลักมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันหรือฝึกซ้อมด้วยเช่นกัน