หลายคนที่คิดอยากจะซื้อบ้านสักหลังเพื่อสร้างครอบครัวของตัวเอง หรืออยากจะมีคอนโดสักห้องที่เดินทางไปทำงานได้แสนสะดวก
แต่ใจมันก็ยังไม่กล้าพอสักที เพราะเมื่อลองมาคิดคำนวณเรื่องค่าใช้จ่ายก็ทำให้กังวลไปเสียหมด
เพราะหากเรากำลังคิดจะซื้อบ้าน คอนโด หรือทาวน์โฮมสักหลัง ไม่ว่าจะจ่ายด้วยเงินสด หรือกู้สินเชื่อก็ตาม เราจะต้องคำนวณให้ดีก่อนว่าจากวงเงินที่เรามีทั้งหมด จะต้องแบ่งไปจ่ายเป็นค่าอะไรอีกบ้าง นอกเหนือไปจากราคาที่อยู่อาศัย เพราะใช่ว่าเรากำเงินไป 5 ล้าน แล้วจะสามารถซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคา 5 ล้านได้เลย เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งก่อนซื้อ ระหว่างการโอนกรรมสิทธิ์ หรือระหว่างการอยู่อาศัย วันนี้เราเลยอยากชวนคุณมานั่งศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวเป็นเจ้าของบ้านในฝันกัน
1. เตรียมเงินให้พร้อม ตั้งแต่ก่อนซื้อ
แค่คิดจะซื้อ ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับค่าใช้จ่ายด่านแรกที่รอเราจะอยู่ ซึ่งจะมี 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน
เงินจอง
เมื่อเราเจอบ้านที่ถูกใจแล้วและปักธงว่าต้องการจะเป็นเจ้าบ้านหลังนี้แน่นอน เราก็จะต้องวางเงินจอง ทั้งเพื่อแสดงเจตจำนงว่าเราจะซื้อบ้านหลังนี้ และเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการซื้อขายบ้านนี้ให้กับผู้อื่นอีก ซึ่งจำนวนเงินจองนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับมูลค่าของโครงการ หรือแล้วแต่โครงการกำหนดขึ้น
เงินทำสัญญา
ภายในประมาณ 7 -14 วันหลังจากที่เราจองที่พักอาศัยไปแล้ว ผู้ขายจะติดต่อให้เราเข้ามาทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็จะเกิดค่าใช้จ่ายอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ เงินทำสัญญา ซึ่งจะมากจะน้อยก็จะขึ้นอยู่กับมูลค่าของที่พักอาศัย และท้ายที่สุดทั้งเงินจองและเงินทำสัญญาก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเงินดาวน์
เงินดาวน์
การซื้อขายคอนโดโครงการใหม่ๆ ในปัจจุบันจะแตกต่างกับบ้านเดี่ยว เพราะว่าจะเริ่มทำการซื้อขายกันตั้งแต่ก่อนดำเนินการก่อสร้างหรือช่วงกำลังดำเนินการก่อสร้าง ดังนั้นผู้ซื้อก็จะต้องวางเงินดาวน์ในระหว่างรอโครงการสร้างเสร็จ ซึ่งอาจมีทั้งวางเงินดาวน์เป็นก้อนทีเดียว กับแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ โดยเงินส่วนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 10 – 15 % ของราคาคอนโด
ทั้งนี้หากเป็นกรณีสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็จะมีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยด้วย หากเป็นคอนโดมือสองจะมีค่าราคาประเมินซึ่งจะไม่เกิน 3,000 บาท ค่าทำสัญญา และค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์โดยรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 5% ของราคาประเมิน
2. ระหว่างโอนกรรมสิทธิ์ ก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องคิดคำนวณ
ค่าใช้จ่ายกลุ่มต่อมาที่คนอยากเป็นเจ้าของบ้านต้องรู้และต้องเตรียมไว้ คือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนระหว่างการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะมี 3 ส่วนเช่นกันคือ
ค่าจดจำนอง
เมื่อถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ เราจะต้องจ่ายค่าจดจำนอง ซึ่งจะคิดเป็น 1% ของมูลค่าที่พักอาศัยที่จดจำนอง เพื่อจ่ายให้กับสำนักงานที่ดินเพื่อเอาที่พักอาศัยนั้นเป็นหลักประกันหนี้ให้กับธนาคารในกรณีของผู้ที่กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย
ค่าธรรมเนียมการโอน
สำหรับค่าธรรมเนียมการโอนนั้นมีมูลค่า 2% ของราคาประเมิน โดยส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งให้ผู้ซื้อและผู้ขายออกกันคนละครึ่ง หรือคนละ 1% เพื่อความยุติธรรม
ค่าอากรสแตมป์
ในการจดทะเบียนโอน กรมที่ดินจะเก็บค่าอากรแสตมป์ในอัตราร้อยละ 0.5 โดยจะพิจารณามาจากราคาซื้อขาย หรือถ้าคิดง่ายๆ ก็คือค่าอากรแสตมป์จะอยู่ที่ 5 บาท ต่อมูลค่าโครงการทุกๆ 1,000 บาท นั่นเอง
และเป็นโอกาสดีสำหรับคนที่กำลังจะซื้อบ้าน เนื่องจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเห็นชอบให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี ซึ่งส่งผลดีกับคนที่กำลังจะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เพราะจะทำให้ภาระดอกเบี้ยลดลง อัตราการผ่อนชำระหนี้ลดลง โอกาสในการกู้ผ่านมีสูงขึ้น และมีโอกาสที่จะได้วงเงินอนุมัติมากขึ้นอีกด้วย**
นอกจากนี้ รัฐยังออกมาตราการลดค่าธรรมเนียมการโอน – จดจำนอง โดยลดอัตราค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% เป็น 0.01% และค่าจดจำนองจาก 1% เป็น 0.01% สำหรับการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งบ้าน คอนโด และทาวน์โฮม ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องโอนและจดจำนองพร้อมกัน ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงเดือนธันวาคม 2565
แต่แสนสิริให้แรง แซงรัฐ! เพียงคุณซื้อและโอนโครงการบ้าน คอนโด หรือทาวน์โฮมไม่เกิน 3 ล้าน ตั้งแต่วันนี้ – ธ.ค. 65 เราให้คุณมากกว่าทั้ง ฟรี! ค่าธรรมเนียมการโอน ฟรี! ค่าจดจำนอง และฟรี! ทองคำ มูลค่าสูงสุด 60,000 บาท* ค้นหาโครงการ ได้ที่นี่
3. รายจ่ายส่วนสุดท้าย ระหว่างการอยู่อาศัย
อย่าเพิ่งคิดว่าเมื่อซื้อขายหรือโอนกรรมสิทธิ์เสร็จแล้ว ค่าใช้จ่ายจะหมดเพียงเท่านั้น เพราะยังมีเงินอีก 3 ส่วนหลักๆ ที่ผู้ซื้อบ้าน คอนโด หรือทาวน์โฮม จะต้องเตรียมไว้ คือ ค่าใช้จ่ายระหว่างการอยู่อาศัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเก็บล่วงหน้าตั้งแต่วันทำสัญญา
ค่าส่วนกลาง
ซึ่งเป็นค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางในคอนโด โดยจะคำนวณตามพื้นที่เป็นตารางเมตรของห้องชุด เช่น หากคอนโดที่เราซื้อ มีขนาด 30 ตารางเมตร มีค่าส่วนกลางราคา 50 บาท/เดือน/ตร.ม. ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เราต้องจ่ายจะคิดเป็น 50 (ค่าส่วนกลาง) x 30 (ขนาดห้องเป็นตารางเมตร) x 12 (1 ปี) = 18,000 บาทต่อปี
ค่ากองทุน
เงินส่วนนี้นิติบุคคลจะเรียกเก็บไว้เป็นกองทุนสำรองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายกองกลาง ในการบริหารจัดการต่างๆ ภายในโครงการในระยะยาว โดยจะคำนวณตามพื้นที่ของห้องชุดเช่นกัน เช่น ค่ากองทุน 500 บาทต่อตารางเมตร หากห้องชุดขนาด 30 ตารางเมตร ก็จะต้องจ่ายให้โครงการ 15,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะชำระเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ค่าประกันมิเตอร์ไฟ
โดยส่วนใหญ่โครงการจะออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ก่อนและจะเรียกเก็บตามภายหลัง โดยค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 – 4,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์หรืออัตราการใช้ไฟฟ้าในห้องของเรา ซึ่งบางโครงการจะเรียกเก็บทั้งค่าประกัน ค่ามิเตอร์ ผู้ซื้อต้องดูรายละเอียดในส่วนนี้ให้ถี่ถ้วน
นอกจากนี้ก็ยังมีค่าใช้จ่ายในระหว่างการอยู่อาศัยในส่วนอื่นๆ อีก เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เนต ค่าโทรศัพท์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน แต่หากเฉลี่ยแล้วหากเป็นห้องขนาด 30 ตารางเมตร ซึ่งประกอบด้วย 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว 1 ห้องนอน และ 1 ห้องนั่งเล่น ที่อาศัยอยู่ 2 คน ก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนตกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 1,000 – 1,500 บาท
แต่ถ้าหากเจ้าของคอนโด ต้องการจะขายคอนโด แต่ครอบครองคอนโดน้อยกว่า 5 ปี ก็จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งภาษีธุรกิจเฉพาะที่อัตราร้อยละ 3.3% ของราคาประเมินหรือราคาตลาดขึ้นอยู่กับว่าอัตราใดสูงกว่าก็จะใช้ราคานั้นในการคำนวณ และภาษีเงินได้ที่จะพิจารณาจากราคาประเมินและจำนวนปีที่ถือครอง
เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเราอยากซื้อบ้าน คอนโด หรือทาวน์โฮมมาครอบครอง ดังนั้นเราก็ควรศึกษาความรู้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้มากพอ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวของเราเอง นอกจากจะเพื่อความพร้อมของเราแล้ว ยังป้องกันการถูกเอาเปรียบได้อีกด้วย
สนับสนุนข้อมูล Living Guides โดย: Plus Property
**อ้างอิงจาก ข่าวสด