ขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมมีคำว่า “กำไร” และ “ขาดทุน” แต่การลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุนมีหรือไม่ ลองติดตามแนวทางตามด้านล่าง ดังนี้
แนวทางแรก “ลงทุนในการศึกษา”
เรื่องราวของการลงทุนในการศึกษา เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า “การศึกษา” นั้นเป็นการลงทุนที่แสนจะคุ้มค่า และไม่ขาดทุน แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นตามความเร็วของอินเตอร์เน็ท ทำให้การเลือกเรียนแต่ละสาขาวิชาต้องวางแผนแต่เนิ่น ๆ โดยการลงทุนด้านการศึกษา แบ่งเป็นระยะ ๆ ต่อไปนี้
- ระยะแรก “ช่วงอนุบาล ถึง มัธยมปลาย” ในช่วงนี้จะเป็นการลงทุนเพื่อปูพื้นฐานด้านการศึกษาใช้ไปต่อยอดในระดับมหาวิทยาลัย หากคิดค่าเล่าเรียนในระดับกลางที่ปีละ 100,000 บาท เรียนตั้งแต่อนุบาล ถึง มัธยมปลาย ใช้ระยะเวลา 8 ปี ต้องเตรียมเงินไว้ราว 800,000 – 1 ล้านบาท
- ระยะที่สอง “ช่วงเรียนในมหาวิทยาลัย” ช่วงนี้จะเป็นการเลือกสาขาวิชา และมหาวิทยาลัย หากเป็นมหาวิทยาลัยภายในประเทศก็จะมีราคาถูกกว่า ถ้าคิดค่าเล่าเรียนที่เฉลี่ยปีละ 100,000 – 500,000 บาทต่อปี การเรียนในระดับนี้ใช้เวลา 4 – 6 ปี ใช้เงินราว 400,000 – 3,000,000 ล้านบาท
โดยรวมแล้วค่าเล่าเรียนตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาทำงานได้ จะอยู่ในช่วง 1.2 – 4 ล้านบาทนั่นเอง
ลองดูตัวอย่าง นักศึกษาที่เรียนจบคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หากเขามีประสบการณ์ทำงาน 5 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสได้รับเงินเดือนเฉลี่ยราว 50,000 – 80,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 600,000 – 1 ล้านบาทต่อปี (อ้างอิง บทความเรียนสายวิศวะและไอที งานอะไรรายได้สูงสุด) ซึ่งเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนคืนทุนเร็วสุดภายในไม่เกิน 4 ปี
แนวทางที่สอง “ลงทุนกับการออมเงินระยะยาว”
แนวทางต่อมาที่ไม่ว่ายังไงก็ไม่มีคำว่า “ขาดทุน” ก็คือการออมเงินระยะยาว และนำเงินไปฝากธนาคารที่ไว้ใจได้ ยิ่งถ้าเราฝากประจำดอกเบี้ยจะสูงกว่าปกติ เมื่อมันทบต้นจำนวนเงินของเราก็จะเติบโตตามดอกเบี้ยที่โตเร็วขึ้นจากฐานเงินฝากที่ใหญ่ขึ้น
ตามทฤษฏีกฎ 72 กฏง่าย ๆ ที่เราควรรู้ก่อนการลงทุน หากเราทำผลตอบแทนได้เท่าไหร่ให้เอา 72 มาหารจะได้จำนวนปีที่เงินต้นของเราจะทบต้นเป็นสองเท่าตัว ยกตัวอย่างเช่น เราฝากประจำกับธนาคารได้ดอกเบี้ยราว 3% ต่อปี ถ้าเงินต้นของเราเริ่มต้นด้วยเงิน 1 ล้านบาทถ้วน เงินจะงอกเป็น 2 ล้านบาทภายใน = 72 / 3 = 24 ปี อาจรู้สึกว่าผลตอบแทนน้อย แต่ปิดประตูคำว่า ขาดทุนไปเลย เพราะการฝากเงินไว้กับธนาคารที่น่าเชื่อถือ ยังไงก็ไม่กินเงินต้นเหมือนการลงทุนรูปแบบอื่น ๆ
แนวทางที่สาม “ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้”
การลงทุนที่อาจเสี่ยงขึ้นมามากกว่าการฝากเงินกับธนาคารเสียหน่อย แต่ก็แทบจะปิดประตูขาดทุนก็คือ การซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้
สำหรับพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบันกระทรวงการคลังออกจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561แบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นอายุ 5 ปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ดังนี้
- รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.15 ต่อปี
- รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.00 ต่อปี
(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย)
สำหรับหุ้นกู้ การลงทุนเราควรต้องดูพื้นฐานของบริษัทที่เราคิดจะลงทุนด้วยเป็นหลักว่าบริษัทที่เราจะซื้อหุ้นกู้นั้นมีความน่าเชื่อถือ และมั่นคงแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ของ ปตท. หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 3.5% – 6.85% ต่อปี โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหุ้นกู้แต่ละชุด
แนวทางที่สี่ “หาลู่ทางลงทุนอสังหาริมทรัพย์”
สำหรับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ต้องบอกไว้ก่อนว่า อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่เราสามารถทำให้โอกาสแห่งความสำเร็จเปิดกว้างด้วยการใช้ความรู้ความเข้าใจในการลงทุนอสังหา ลองหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ลองคิดคำนวณว่า หากจะซื้อคอนโดสักห้อง ต้องใช้เงินก้อนจำนวนเท่าไหร่ หรือหากต้องผ่อน ต้องผ่อนในระยะเวลากี่ปี และเมื่อปล่อยเช่า คอนโดห้องนี้จะสามารถรายได้ต่อเดือนกี่บาท เป็นต้น สมมุติ คุณซื้อคอนโดมาในราคา 3 ล้านบาท และปล่อยเช่าในราคา 10,000 บาทต่อเดือน เมื่อครบ 5 ปี คุณจะได้รับเงินคืนทั้งหมด 600,000 บาท
สิ่งที่จะปิดความเสี่ยงได้ดีอีกประการก็คือ การเลือกซื้ออสังหาของแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก ได้รับความไว้วางใจจากคนทั่วไป ซึ่งจะสะท้อนว่า อสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ เป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย แต่เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า และสามารถส่งต่อให้แก่ลูกหลาน หรือทำกำไรได้
การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้นแท้จริงมีเรื่องราวตื้นลึกหนาบางอีกมากมายหลายประการ หากจะทำให้ประสบความสำเร็จจริงจัง ต้องเรียนรู้กันมากหน่อย ค่อย ๆ ติดตามอ่านบทความก็จะพบวิธีการมากมายที่จะเปิดโลกแห่งการลงทุนแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน
แนวทางสุดท้าย “ลงทุนในอาชีพเสริม”
การลงทุนที่อาจจะช่วยลดความเสี่ยง หรือปิดโอกาสการขาดทุนให้น้อยลงไปก็คือการลงทุนในความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่สอนกันตามมหาวิทยาลัย
อย่างที่รู้กันดีว่า “งานประจำ” เพียงอย่างเดียวนั้นค่อนข้างจะเสี่ยง งานสมัยใหม่ทำยากขึ้น คู่แข่งมากขึ้น และในอนาคตเราอาจต้องแข่งขันกับ “หุ่นยนต์” การที่เราทำงานประจำเพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ยุค 4.0 เสียแล้ว
การทำอาชีพเสริมถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ ด้วยอินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้น ทำให้เกิดอาชีพเสริมใหม่ ๆ ที่ใช้ต้นทุนต่ำ หากเราทำเป็นแทบจะปิดทุกความเสี่ยงที่เป็นไปได้เลย สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวของอาชีพที่สอง ลองติดตามเพิ่มเติมในบทความอาชีพที่ 2 ต้องมี! เสริมแกร่งรายได้มนุษย์เงินเดือนยุค 4.0
ข้อสรุป การลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุนสำหรับบทความนี้ ได้แก่ การลงทุนด้านการศึกษา การลงทุนด้านการออมเงิน การลองซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ การลงทุนในอสังหา และการลงทุนในอาชีพเสริมที่จะช่วยเสริมสร้างกระแสเงินสดนอกจากงานประจำนั่นเอง ส่วนเรื่องของการจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นตั้งใจของเราถือเป็น “ส่วนผสม” ที่จะทำให้ทุกอย่างลงตัวอย่างแน่นอน