ไม่ว่าเราจะเจอกับปัญหาอะไรในชีวิต
ขอให้ตั้งสติและค่อยๆ คิดหาหนทางแก้ไข
เพราะทุกปัญหามีทางออกเสมอ
ในทุกวันนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย อาจจะทำให้เราเกิดความเครียด ความกดดัน เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น บางสถานการณ์เป็นเรื่องที่เราไม่คาดคิดหรือควบคุมไม่ได้ เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาอะไรก็ตามที่เราเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาการเงิน ปัญหาการงาน หรือปัญหาส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งอาจจะทำให้เราเครียดไม่รู้ตัวจนอาจเกิดภาวะเครียดสะสม
แต่ไม่ว่าคุณกำลังเครียดกับปัญหาอะไรอยู่ คุณจะพบหนทางการแก้ไขปัญหาเสมอเพราะเราเชื่อว่าไม่ว่าคนเราจะเจอปัญหาอะไรในชีวิต ทุกปัญหามีทางออกเสมอ สุดท้ายเราจะเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ขอแค่เรามีสติ ค่อยๆ คิด และมีพลังใจในการต่อสู้กับทุกปัญหาที่เข้ามาค่ะ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาวะความเครียดเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นกับคนไทยมานานหลายปีและบางคนอาจจะเผชิญกับความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว โดยข้อมูลในปี พ.ศ. 2566 ได้คาดการณ์ว่าคนไทยอาจมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน และคนไทยประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก นอกจากนี้จากการทำแบบประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง (Mental Health Check In) ของกรมสุขภาพจิต ยังพบว่าคนจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งที่ทำแบบสอบถามมีภาวะความเครียดสูงมาก ซึ่งอาจส่งผลทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย
บางคนอาจจะเครียดสะสมเป็นเวลานานโดยไม่รู้ตัวทำให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจซึ่งอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา วันนี้ Mental Life by Chanisara จะพาทุกคนมาเข้าใจความเครียด ผลกระทบ สัญญาณเตือนและวิธีฮิวใจให้หายจากความเครียดสะสมกันค่ะ
ความเครียด VS ความเครียดสะสม
ความเครียด เกิดจากการได้รับแรงกดดันหรือเจอเหตุการณ์ที่ท้าทายในชีวิต ความเครียดจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดสิ้นสุดลง ความเครียดนั้นก็จะหายไป
การเครียดสะสมเป็นเวลานาน เกิดจากการเผชิญแรงกดดันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและ ไม่ได้รับการผ่อนคลายทำให้เครียดสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพใจซึ่งแสดงออกมาทางร่างกายของเราด้วยนั่นเอง
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนความแตกต่างของความเครียดและความเครียดสะสม ถึงแม้ความเครียดอาจจะส่งผลไม่ดีต่อเรา แต่เราทุกคนคงหลีกเลี่ยงความเครียดไม่ได้ ถ้างั้นเราขอให้ทุกคนเครียดให้น้อยที่สุดนะคะ
ความเครียดสะสมส่งผลกระทบกับกายและใจ…มากกว่าที่คิด
หากมีความเครียดสะสมอาจนำไปสู่การเกิดโรคมากมายดังต่อไปนี้
โรคทางใจ
โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล รู้สึกหมดแรงใจในการใช้ชีวิต นอนไม่หลับ ฯลฯ
โรคทางร่างกาย
โรคความดัน โรคหัวใจ โรคอ้วน ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคเบาหวาน ฯลฯ
10 สัญญาณเตือน อาการเครียดสะสม เราเป็นอยู่ไหมนะ
ปวดหัวบ่อย ปวดหัวเรื้อรัง
นอนไม่หลับ
ปวดคอและบ่า
สายตาเบลอหรือปวดตา
สมองล้า คิดอะไรไม่ออก
อารมณ์เสียง่าย
ตัดสินใจบางเรื่องไม่ได้
ท้องเสียหรือท้องผูก
ความจำไม่ดี
ไม่อยากเข้าสังคม
วิธีรับมือกับสภาพจิตใจในช่วงเวลาเครียด
สื่อสารกับผู้อื่น
การคุยกับผู้อื่นจะทำให้เราสามารถลดความเครียดที่เกิดขึ้น ภายในจิตใจได้ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนบ้าน ฯลฯ
หากสถานการณ์ใดอยู่เหนือการจัดการของเราให้เปลี่ยนวิธีคิด
บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต เราก็ไม่อาจควบคุมได้ เช่น น้ำท่วม อาการป่วย เราต้องพยายามเปลี่ยนความคิดตัวเอง เพื่อสภาพจิตใจของเรา เราเข้าใจว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่เราเชื่อว่าคุณจะผ่านทุกเรื่องไปได้อย่างแน่นอน
ดูแลตัวเองทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ
เวลาเราเครียด เรามักจะไม่ค่อยดูแลตัวเองหรืออาจจะลืมดูแลตัวเอง บางคนอาจเป็นโรคนอนไม่หลับ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย จนต้องเข้าโรงพยาบาล
ฝึกสติ
พยายามมีสติรู้ตัวตลอดเวลา เพราะสติจะช่วยให้เรามองหาวิธีการแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น และยังสามารถลดความฟุ้งซ่านและลดความวิตกกังวลได้อีกด้วย
การหากิจกรรมอย่างอื่นทำ
การทำกิจกรรมต่างๆ จะทำให้ลดความเครียด ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นกับเราได้ค่ะ
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าหากเกิดความเครียดมากให้ลองปรึกษานักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ ปัจจุบันหากไม่อยากไปโรงพยาบาลสามารถปรึกษาผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ค่ะ
ความเครียดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเวลาเจอปัญหา เราควรมีสติให้เร็วที่สุด เพราะหากเรามีสติ เราจะสามารถคิดและหาหนทางการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมและความเครียดของเราก็จะน้อยลงนั่นเองค่ะ
Source
https://www.extension.iastate.edu/news/following-flooding-managing-additional-stress
https://www.sikarin.com/health
https://policywatch.thaipbs.or.th/article/life-35