Cyberbullying
ภัยคุกคามต่อจิตใจ
ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม 

บูลลี่ที่ไม่ใช่แค่แกล้ง
การโพสต์ หรือ คอมเม้นต์โดยไม่คิด
อาจจะเป็นแผลใจให้ใครบางคนไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ 

ในทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Social Media เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันของหลายคน ทุกวันนี้อาจจะพูดได้ว่า โลกถูกขับเคลื่อนด้วย Social Media ทำไมนะหรอ? จะเห็นได้ว่าไม่ว่าเราจะไปที่ไหน จะเดินไปบนถนน ขึ้นรถไฟฟ้า เดินไปในห้าง หรือแม้กระทั่งหันไปมองคนข้างๆ ก็จะเห็นคนก้มเล่นโทรศัพท์ เปิดสื่อ Social Media ด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อโลกถูกขับเคลื่อนด้วย Social Media คนเรามักจะติดต่อสื่อสารกันผ่านทางโลกออนไลน์ซะเป็นส่วนใหญ่ และเราสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเราสามารถพูดคุยกับคนที่รู้จักและไม่ได้รู้จักกันอย่างง่ายดาย ซึ่งทำให้เกิดการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ขึ้น หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า “Cyberbullying” 

ปัจจุบันการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากเมื่อก่อนเราจะบูลลี่คนอื่นได้ด้วยการเจอหน้า พบปะ พูดคุย หรือเห็นหน้า แต่เมื่อทุกคนหันมาใช้สื่อโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้การกลั่นแกล้งผู้อื่น คุกคามผู้อื่น ง่ายมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแค่เปลี่ยนจากการเจอหน้ามาอยู่บนโซเชียลมีเดีย คนที่ไม่เคยเห็นหน้าก็สามารถบูลลี่กันได้ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์จึงเป็นภัยที่รุนแรงมากกว่าที่หลายคนคาดคิด

การบูลลี่ผ่านทางโลกออนไลน์ ส่วนมากเราจะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ผ่านทางคอมเม้นต์ต่างๆ รูปภาพ คลิป ฯลฯ ในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งบางครั้งเราเองนี่แหละอาจจะไปบูลลี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว เช่น เมื่อมีคนลงรูป แล้วคนไปคอมเม้นต์ว่า ทำไมอ้วนจัง ทำไมหน้าตาไม่สวยเลย เพียงแค่นี้ก็ถือเป็นการบูลลี่ผ่านโลกออนไลน์แล้ว ทุกคนรู้หรือไม่ว่าบางข้อความที่คนพิมพ์ไปโดยไม่คิดอะไร แต่อาจส่งผลไม่ดีต่อจิตใจคนที่คุณไปคอมเม้นต์อย่างมหาศาล ซึ่งบางคนคิดไม่ถึง หรืออาจจะมองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปนั่นเองค่ะ 

วันนี้ Mental Life by Chanisara อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Cyberbullying อย่างลึกซึ้ง ภัยคุกคามทางโซเชียลที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและร่างกายมากกว่าที่ทุกคนคิด

Cyberbullying เป็นสิ่งใกล้ตัวที่อาจจะเกิดได้กับทุกคน

Cyberbullying เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ เพศไหน เชื้อชาติศาสนาไหนก็สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของทุกคนด้วยกันทั้งนั้น หลายคนอาจจะสงสัยว่า Cyberbullying คืออะไรกันนะ? Cyberbullying คือ การกลั่นแกล้ง ต่อว่า พูดให้ร้าย ผ่านการคอมเม้นต์ ในโลกอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่ง การตัดต่อคลิปวิดีโอ หรือการปรุงแต่งข้อความ แต่งเรื่อง ให้ร้ายผู้อื่น แสดงถึงความเกลียดชัง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อับอาย หรือการส่งต่อหรือแชร์เนื้อหาที่เป็นอันตรายส่งผลเสียต่อผู้อื่น ซึ่งในปัจจุบันโดยส่วนมากมักจะพบบนแพลตฟอร์ม  Facebook  YouTube  Instagram X หรือใน platform เกมออนไลน์ต่างๆ 

ทำไม “การบูลลี่บนโลกออนไลน์” ถึงน่ากลัวกว่า “การบูลลี่ต่อหน้า”

การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์น่ากลัวกว่าการบูลลี่ต่อหน้า เพราะ ผู้กระทำอาจจะปิดบังตัวตนของตัวเองทำให้เราไม่รู้ว่าคนๆ นั้นเป็นใคร การจะเอาผิดหรือการตามหาตัวอาจจะเป็นเรื่องยากกว่า และคนที่บูลลี่ในโลกออนไลน์อาจจะมีจำนวนมากกว่า ซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ รุนแรงกว่าการบูลลี่กันซึ่งๆ หน้า เช่น หากเราเปิด Facebook  YouTube  Instagram X เป็นสาธารณะไว้ ผู้คนทั่วโลกสามารถเห็นและมาคอมเม้นต์ หรือส่งข้อความมาหาคุณได้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน ซึ่งสะท้อนให้.เห็นว่าการบูลลี่ผ่านทางโลกออนไลน์เป็นเรื่องง่ายและน่ากลัวนั่นเองค่ะ 

การบูลลี่ทางออนไลน์ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจ 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์จากทั่วโลก เพิ่มสูงขึ้นถึง 64 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว การถูกกันแกล้งผ่านทางโลกออนไลน์นั้นส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวลในระยะยาวได้ หรือหากร้ายแรงไปกว่านั้นอาจจะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า หรือทำให้รู้สึกไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้เลยก็ได้ค่ะ นอกจากนั้นยังส่งผลเสียต่อสภาพร่างกาย เช่น การนอนไม่หลับ การไม่อยากรับประทานอาหาร ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรงส่งผลให้เจ็บป่วยหรือมีโรคภัยตามมาอีกด้วย รวมถึงอาจจะไม่อยากเข้าสังคม ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากไปทำงานและขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าทำสิ่งต่างๆ หรือบางคนหากโดนบุลลี่มากๆ จนรับไม่ไหว อาจจะต้องพบจิตแพทย์กันเลยทีเดียวค่ะ

รู้ไหม Cyberbullying มีกี่ประเภท

ประกอบไปด้วย 10 ประเภทดังนี้ 

1. การกีดกันออกจากกลุ่ม 

การเตะใครบางคนออกจากกลุ่มไลน์ หรือลบเพื่อนออกจากกลุ่มในเพจ facebook 

2. การคุกคามทำให้เกิดความอับอาย

เช่น โพสต์ประจาน ข่มขู่ ส่งต่อข้อความหรือส่งต่อรูปภาพให้ผู้อื่นเกิดความอับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียง

3. การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่น

 การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัว ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ หรือข้อมูลอื่นๆ แล้วโพสต์ลงในโลกออนไลน์

4. หลอกลวงเอาข้อมูลของผู้อื่นและเปิดเผย

มีความคล้ายคลึงกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่น แต่จุดที่แตกต่าง คือการหลอกให้เหยื่อไว้ใจ และนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นไปเปิดเผย โดยมีจุดประสงค์ที่ไม่ดี

5. การสะกดรอยตามทางไซเบอร์

การติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลอื่นแล้วพยายามส่งข้อความข่มขู่ คุกคาม บังคับขู่เข็ญ ทำให้กลัวและทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย หรือพยายามให้ฝ่ายผู้เสียหายส่งภาพอนาจารโดยที่เขาไม่ยินยอม

6. การที่ผู้อื่นเปิดโซเชียลมีเดียทิ้งไว้ แล้วมีคนนำไปโพสต์ให้เกิดความเสียหาย

เช่น การที่เราอาจจะเปิด Facebook ทิ้งไว้ แล้วเพื่อนนำบัญชีของเราไปโพสต์ให้เกิดความเสียหายเสียชื่อเสียง ดูเหมือนจะเป็นการแกล้งเล่นๆ แต่คนโดนกระทำอาจจะมองว่ามันไม่ใช่เรื่องตลก 

7. การแอบอ้างสวมรอยหรือปลอมตัวเป็นคนอื่น

การปลอมตัวทำให้คนอื่นเข้าใจผิด จะเห็นได้ชัดจากที่มีคนดัง โดนนำชื่อ นามสกุล หรือข้อมูลอะไรก็ตาม ไปใช้ปลอมเป็นเจ้าตัวให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นคนๆ นั้น

8. การทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหายโดยที่สองฝ่ายมีสัมพันธ์กัน 

การโพสต์ข้อความ รูป หรือคลิป ที่สร้างความเสียหายให้กับคนอื่น โดยที่สองฝ่ายรู้จักกัน

9. การหลอกล่อผู้อื่น

การโพสต์ข้อความ รูป หรือคลิป ที่สร้างความเสียหายให้กับคนอื่นโดยที่สองฝ่ายไม่รู้จักกัน

10. การให้ร้ายผู้อื่นโดยส่งข้อความหรือข้อมูลอื่นๆ ให้กับเจ้าตัวโดยตรง

การส่งข้อความหรือข้อมูลถึงเหยื่อโดยตรง โดยมีเจตนาจะทำร้ายเหยื่อทางด้านจิตใจ เช่น การส่งข้อความว่าร้าย หรือข่มขู่บุคคลอื่นผ่านแชทโดยตรง

โดนบูลลี่ผ่านโลกออนไลน์แจ้งความได้นะ 

รู้มั้ยว่า การกลั่นแกล้งผู้อื่นบนโลกออนไลน์ การพิมพ์ว่า ด่าทอหรือการกระทำอะไรก็ตามซึ่งส่งผลให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย ถึงแม้ไม่ได้ระบุชื่อว่าเป็นใคร ก็ถือเป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่นเหมือนกัน สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ตามกฎหมาย เช่น กฎหมายอาญามาตรา 326 การใส่ความบุคคลที่ 3 ให้เสียชื่อเสียง ดูหมิ่น เกลียดชัง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

หากโพสต์ให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย ผิดกฎหมายข้อหาหมิ่นประมาทมาตรา 328 เป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา การใช้สื่อให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ว่าจะในรูปแบบของ ภาพ ตัวหนังสือ หรือบันทึกเสียง หรือ การป่าวประกาศด้วยวิธีการใดใด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อกฎหมายอาญาอื่นๆ มาปรับใช้ได้ (แล้วแต่กรณี) เช่น กฎหมายมาตรา 392 บุคคลใดที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึก ตกใจ หวาดกลัวด้วยการขู่เข็ญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายอาญามาตรา 397 หากรังแก คุกคาม ข่มเหง ให้บุคคลอื่นเกิดความอับอาย รำคาญมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 หากโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นการบิดเบือนบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่บุคคลอื่นสามารถเห็นโพสต์นั้นได้ ซึ่งทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย รวมไปถึงข้อมูลลามกต่างๆ ทั้งบุคคลที่เผยแพร่และบุคคลที่ส่งต่อ จะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้ใดโดนกลั่นแกล้ง รังแก ผ่านโลกออนไลน์ ก็สามารถไปแจ้งความ เอาผิดได้นะคะ

Cyberbullying

“Cyberbullying” บูลลี่ที่ไม่ใช่แค่แกล้ง โปรดคิดก่อนโพสต์ เพราะว่าการโพสต์ การส่งต่อโดยไม่คิด อาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของผู้โดนกระทำอย่างมากมายมหาศาลเลยนะคะทุกคน


Source 

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC10823540/#:~:text=Victims%20of%20cyberbullying%20may%20develop,et%20al.%2C%202018)

https://vt.tiktok.com/ZSYDRYQj7/

https://whatsthebigdata.com/cyberbullying-statistics-facts/#google_vignette 

https://kidshealth.org/en/teens/cyberbullying.html 

https://www.thansettakij.com/news/general-news/571008 

https://nbt2hd.prd.go.th/th/content/category/detail/id/2153/iid/199904 

Related Articles

Christmas Presents

Christmas Presents : ทำไมการให้ของขวัญถึงสร้างความสุขและความผูกพันในระยะยาว

การมอบของขวัญให้กัน จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ช่วยกระชับความสัมพันธ์ และทำให้ผู้รับรู้สึกอบอุ่นหัวใจ OH OH OH เทศกาลคริสต์มาส เป็นเทศกาลที่หลายคนรอคอยใช่ไหมล่ะคะ ถึงเทศกาลนี้ที่ไร หลายคนมักแฮปปี้ทุกที หากถามว่าเมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาส ทุกคนคิดถึงอะไรกัน หลายคนบอกว่า คิดถึงซานตาคลอส คิดถึงต้นคริสต์มาส คิดถึงการท่องเที่ยว คิดถึงการกลับไปหาครอบครัวและอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ หลายคนคงคิดถึงการให้หรือการได้รับของขวัญกันใช่ไหมล่ะคะ แล้วทุกคนรู้ไหมคะว่าการให้หรือการได้รับของขวัญในเทศกาลคริสต์มาส

Legally Married LGBTQIA+ Couples

Legally Married LGBTQIA+ Couples : การครองรักหลังจดทะเบียนสมรส 

ชีวิตแต่งงานจะมั่นคงและยืนยาว ขึ้นอยู่กับการแสดงความรัก ความเข้าใจและการให้เกียรติกัน อีกไม่กี่วันก็ถึงวันที่ทุกคนรอคอยกันแล้ว วันที่คนไทยทุกคนจะสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีคู่รัก LGBTQIA+ ขอแต่งงานกันหลายคู่แล้ว เพื่อจะจดทะเบียนสมรสกัน ภายหลังจากวันที่ 22 มกราคม 2025 นี้ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกบังคับใช้ วันนั้นจะเป็นวันที่ประตูแห่งความเท่าเทียมถูกเปิดออกและคู่รักทุกคู่จะได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงค่ะ ภายหลังจากจดทะเบียนสมรสกันได้พวกเขาสามารถเริ่มต้นชีวิตคู่ ภายใต้สิทธิทางกฎหมายที่หลายคนรอมาอย่างยาวนาน และเราเชื่อว่าคนที่ร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้กฎหมาย สมรสเท่าเทียมมาบังคับใช้ในประเทศไทย จะต้องรู้สึกภูมิใจและดีใจที่สิ่งที่พวกเขาร่วมต่อสู้กันมาประสบความสำเร็จในวันนี้ 

Human right

Human Rights : เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ทุกคนสมควรจะได้รับ

เมื่อเราได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เราจะรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย หากพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและถามว่าสิทธิมนุษยชนสำคัญกับเรามากขนาดไหน ทุกคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันใช่ไหมล่ะคะว่าสิทธิมนุษยชนสำคัญกับพวกเราทุกคน เพราะ เป็นสิทธิ เสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับตั้งแต่วันแรกที่คลอดออกมาจากท้องแม่ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เป็นคนชาติไหน นับถือศาสนาอะไร เราก็ควรจะได้รับสิทธิมนุษยชน โดยที่ไม่มีใครสามารถพรากสิทธิเหล่านี้ไปจากเราได้ เช่น สิทธิในการทำงาน สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน สิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม สิทธิที่จะได้รับความเป็นอยู่ที่ดีตามสิทธขั้นพื้นฐาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ส่วนหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับเมื่อเกิดมาอยู่บนโลกใบนี้ค่ะ