อย่ารอเก็บเงินออมหลังจากใช้จ่าย แต่จงใช้จ่ายด้วยเงินที่เหลือจาก “การออม”
กฎง่ายๆ สำหรับ การออม ให้มีประสิทธิภาพโดยสุดยอดนักลงทุนแบบคุณค่า (Value Investor) สายอนุรักษ์นิยม “วอร์เรน บัฟเฟต์” ที่นอกจากจะดังระดับโลกแล้ว ก็ยังเป็นคนที่มั่งคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย นั่นเพราะการเป็นคน “ใช้เงินเป็น” ย่อมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี
ยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกมีสภาพขรุขระกระท่อนกระแท่นไม่ต่างกับพื้นผิวดวงจันทร์ ส่งผลให้กระเป๋าสตางค์แบนแห้งเป็นหมูแดดเดียวแล้ว การยึดหลัก ‘อย่าใช้ก่อนเก็บ แต่ให้เก็บก่อนใช้’ จึงเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตที่ทุกคนควรยึดถือ เพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินสำหรับยามฉุกเฉินและจำเป็นได้อย่างดี
ในสภาพทางเศรษฐกิจปัจจุบันที่ไม่ราบรื่นทั่วทั้งโลกแบบนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่าคนไทยมีพฤติกรรมการออมและการจัดการเงินอย่างไร
คนไทยพร้อมไหม เมื่อก้าวสู่วัยเกษียณ
จากผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าสัดส่วนของคนไทยที่คิดออมเงินเพื่อเกษียณอายุนั้นยังคงมีจำนวนน้อยอยู่ แม้ว่าจากจำนวนประชากรทั้งหมดจะมีคนที่ออมถึงร้อยละ 77.4 แต่นั่นก็แบ่งเป็นการออมระยะสั้นร้อยละ 47.4 และเป็นการออมระยะยาวร้อยละ 52.6 ซึ่งมีทั้งออมเพื่อซื้อบ้าน เพื่อการศึกษาบุตร และรวมถึงการออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณ ดังนั้นจึงถือว่ามีสัดส่วนการออมเพื่อเกษียณอายุที่น้อยพอสมควร
แม้จะมีข่าวดีที่ผลสำรวจชี้ว่าคนไทยมีพฤติกรรมการออมที่สูงขึ้นกว่าอดีต แต่ข่าวร้ายคือ รู้หรือไม่ว่ามีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่วางแผนการออมเพื่อการเกษียณและทำได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ที่เหลือคือ ร้อยละ 34.3 มีการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณแต่ทำไม่สำเร็จตามแผน ร้อยละ 21 ได้แต่วาดภาพฝันว่าจะทำแต่ไม่ได้ลงมือทำ และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือคนอีกร้อยละ 19.7 ไม่ได้เตรียมการใดๆ เพื่อเกษียณอายุเลย หรือพูดเป็นตัวเลขให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือจากคน 100 คน จะมีเพียง 25 คนที่เกษียณอายุได้ตามแผน ส่วนอีก 75 คนจะเกษียณอายุไม่ได้ ถือเป็นจำนวนที่น่ากังวลมากจริงๆ
โรคภัยไข้เจ็บ ศัตรูตัวร้ายของเงินออม
สิ่งที่คนไทยกังวลเป็นอันดับต้นๆ คือ ปัญหาด้านสุขภาพ เพราะเป็นเหมือนการโจรกรรมเงินออมกันซึ่งๆ หน้า (แต่จะไม่ให้ก็ไม่ได้ซะด้วย) จากการสำรวจพบว่าคนไทยกว่าร้อยละ 57 กังวลเรื่องปัญหาสุขภาพ และอีกร้อยละ 42 กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการเดินทาง แต่ถึงแม้คนไทยจะกังวลกับความเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพ แต่กว่าร้อยละ 74 ของกลุ่มสำรวจกลับไม่คิดว่าการทำประกันสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และไม่สนใจทำประกันสุขภาพ มีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้นที่มีการซื้อประกันสุขภาพแล้ว
เหตุผลที่หลายคนยังไม่ตัดสินใจทำประกันสุขภาพ นั่นก็เพราะพนักงานประจำหลายท่านมองว่าตัวเองยังมีสวัสดิการประกันกลุ่มจากบริษัท ส่วนประกันสุขภาพเอาไว้ซื้อตอนใกล้เกษียณก็ได้ ซื้อตอนนี้ก็เป็นภาระเปล่าๆ แต่แท้จริงแล้ว คนไทยหลายคนอาจไม่รู้ (หรือรู้แต่มองข้าม) ว่าการจะซื้อประกันสุขภาพ นอกจากจะต้องใช้เงินซื้อแล้ว ยังต้องใช้สุขภาพที่ดีซื้อด้วย หากเราสุขภาพไม่ดีหรือมีโรคประจำตัวไปแล้ว ก็อาจซื้อประกันสุขภาพไม่ผ่าน แล้วอะไรจะรับประกันได้ว่าร่างกายของเราในช่วงใกล้เกษียณจะยังคงฟิตและเฟิร์ม จริงไหม
กลายเป็นยิ่งเพิ่มภาระที่จะต้องเตรียมเงินอีกก้อนสำหรับดูแลสุขภาพของตัวเอง
เปิดบัญชี ดูยอดหนี้คนไทย
เมื่อสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นั้นสูงถึง 81.1% เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15% ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องในระยะ 20 ปี
ในปี 2558 การออมเงินภาคครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่เพียง 5% แม้จะมีจำนวนคนมีเงินออมร้อยละ 77.4 แต่จำนวนเงินออมสุทธิเฉลี่ยต่อคนอยู่แค่ 9,561 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และถ้ายังคงเป็นแบบนี้ ความฝันที่จะสามารถเกษียณอายุได้อย่างมั่งคั่งก็คงจะไม่มีทางเกิดขึ้นจริงกับคนไทยส่วนใหญ่ และนี่จะเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะสวัสดิการรัฐจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายยามเกษียณแน่นอน
คงเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าสังคมไทยมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ต่ำมากจนน่าตกใจ ดังนั้นหากจะรีบหาทางป้องกันตั้งแต่ตอนนี้ ก็ต้องฉีดวัคซีนแห่งการตระหนักและรับผิดชอบการเงินอย่างจริงจัง อย่างการเพิ่มรายได้ เพิ่มระดับการออม และลดค่าใช้จ่ายที่จะก่อหนี้ และในขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รอบคอบ ไม่บั่นทอนวินัยทางการเงิน การคลัง และสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนลดการก่อหนี้ เพื่อเป็นการฉีดวัคซีนทางการเงินอีกเข็มให้ประชาชน
สนับสนุนข้อมูล Living Guides โดย: ธนาคารไทยพาณิชย์