เบื่อมั้ยเกมที่คนชนะมีแต่หน้าเดิมๆ? ปัญหาเรื้อรังของการแข่งฟอมูล่า 1

และแล้วฤดูกาลแข่งขันรถสูตร 1 หรือ Formula 1 ก็จบลงไป โดยผู้ครองตำแหน่งนักขับแชมป์โลกในปีนี้ก็คือ Lewis Hamilton แชมป์คนเดิมของทีมแชมป์โลกเดิม Mercedes Benz เหมือนเมื่อปีที่แล้ว และถ้าท่านผู้อ่านติดตามการแข่งรถสูตร 1 มาโดยตลอดคงพอจะทราบถึงการที่ทีมรถของ Mercedes Benz ยึดครองตำแหน่ง “ผู้นำ” และ dominate การแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้จากทั้งสิ้น 19 สนามแข่งขันที่เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา มีแค่ 3 สนามเท่านั้นที่ทีม Mercedes ไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ โดย 3 สนามดังกล่าวเป็น Sebastian Vettel จากทีม Ferrari ที่ขึ้นโพเดียมที่หนึ่งแทน
ไม่ใช่แค่ในปีนี้เท่านั้นที่เราเห็นการ dominate ของทีม Mercedes ปีที่แล้วก็เช่นกัน จาก 19 สนามมีแค่ 3 สนามเหมือนปีนี้ที่ Mercedes ไม่ได้ขึ้นโพเดียมที่หนึ่ง (Daniel Ricciardo ของทีม Red Bull คว้าแชมป์ได้ 3 สนามดังกล่าว) ซึ่งจะว่าไปสำหรับคนดูหลายๆ คนก็เป็นเรื่องที่น่าเบื่อเหมือนกันที่การแข่งรถสูตร 1 ที่ควรจะตื่นเต้น มีการแซง การลุ้น ฯลฯ กลายเป็นเพียงสิ่งที่บางคนเรียกว่า “การพาเหรดรถตามก้นกันไปจนครบรอบ” ทีมและนักขับที่รถดีกว่าก็สตาร์ทในตำแหน่งต้นๆ และรักษาอันดับดังกล่าวไปจนจบรอบแข่งขัน

กีฬา ย่อมต้องการความตื่นเต้นจากการแข่งขัน แต่เราจะคิดยังไงกับกีฬาที่ถูก dominate โดยทีมหรือผู้เล่นเพียงหนึ่งหรือสองรายเป็นประจำ เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ หรือเป็นเรื่องปกติธรรมดา?

สำหรับรถสูตร 1 นี้ นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ทิศทางการที่การแข่งขันจะถูก dominate โดยทีมหรือนักขับเพียงหนึ่งคนจะเป็นการบั่นทอนความนิยมและส่งผลให้คนดูผละตัวจากการเป็นแฟนการแข่งรถดังกล่าว เพราะไม่มีใครเสียเงินเข้าไปดูในสนามหรือสมัครสมาชิกเคเบิลทีวีเพียงเพื่ออยากเห็น “การพาเหรดรถตามก้นกันไปจนครบรอบ” อย่างที่ผมกล่าวไว้ แต่จะว่าไปถ้าเราย้อนหลังกลับไปในประวัติศาสตร์อันไม่นานนักก็จะเห็นได้ว่ารถสูตร 1 นี้ดำเนินมาในร่องนี้อย่างสม่ำเสมอ เพราะนับตั้งแต่ปี 1979 จนถึงปี 2004 มีเพียง 3 ทีมหลักที่สลับกันแย่งชิงตำแหน่งทีมแชมป์โลก กล่าวคือ McLaren Ferrari และ Williams โดยมีข้อยกเว้นเพียงแค่ในปี 1995 เท่านั้นที่ทีม Benetton ที่ได้ Michael Schumacher มาขับให้ในขณะที่อยู่ในจุดสูงสุดสามารถแย่งแชมป์มาครองได้ และขยับใกล้เข้ามาอีกก็จะเห็นได้ว่า Ferrari ที่มี Schumacher เป็นนักขับให้ก็สามารถคว้าแชมป์ติดต่อกันตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2004 และก่อนยุค Mercedes นี้เราก็เห็น Red Bull กับ Sebastian Vettel คว้าแชมป์อยู่หลายปีติดกันอยู่

เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่กับกีฬาอย่างการแข่งรถสูตร 1 เท่านั้นนะครับ กีฬาอื่นๆ อย่างเบสบอลเราก็เคยมีทีม New York Yankees เป็นขาประจำในการชนะ World Series สำหรับบาสเก็ตบอลเราก็คุ้นชินกับ LA Lakers ได้แชมป์ก็หลายปีอยู่ ในกีฬาฟุตบอลลีก เราก็เห็นทีมขาประจำอย่าง Real Madrid หรือ Barcelona ได้แชมป์ La Liga สลับกันทุกปี หรือแม้กระทั่งกีฬาประเภทเดี่ยว เราก็มี Martina Navratilova กับ Chris Evert Lloyd และ Steffi Graf และ Venus Williams สำหรับเทนนิสหญิง สำหรับเทนนิสชายก็ไม่พ้น 3 หน่อขาประจำอย่าง Novak Djokovic กับ Roger Federrer และ Rafael Nadal แย่งชิงแชมป์กันอยู่เสมอมา

แล้วเราจะเคลมได้หรือครับว่า การที่ Mercedes Benz เริ่มที่จะออกอาการ dominate การแข่งรถสูตร 1 จะทำให้ความนิยมของการแข่งขันตกลงไปในเมื่อกีฬาอื่นๆ ก็มีเช่นเดียวกัน ผมมีข้อสังเกตอยู่สองอย่างครับที่คิดว่าน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่เราจะเบื่อหรือไม่เบื่อการที่กีฬาบางประเภทถูก dominate โดยทีมหรือผู้เล่นเป็นประจำ

อย่างแรกเลย การที่ทีม Mercedes Benz ก้าวขึ้นมา dominate การแข่งขันได้ในปีสองปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นผลมาจากเชิงเทคนิคอันเป็นผลต่อเนื่องมาจาก “การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์” บางอย่างของการแข่งขันไม่ว่าจะในเรื่องของเครื่องยนต์และแอโรไดนามิคต่างๆ หรืออย่างที่นักวิจารณ์บางคนเค้าเรียกว่าเป็น “artificial dominance”

ย้อนหลังกลับไปเมื่อก่อนหน้านี้ที่ทีม Red Bull คว้าแชมป์อย่างต่อเนื่อง อันนั้นเป็นผลมาจากการที่กฏเกณฑ์ที่ทางสมาพันธ์รถสูตร 1 ตั้งเอาไว้ให้ความสำคัญกับเรื่องของหลักอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) เป็นปัจจัยหลักซึ่งโชคดีของ Red Bull ที่ทีมมีนักวิเคราะห์และออกแบบทาง aerodynamics ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในโลกอยู่ด้วย แต่เมื่อสองปีที่แล้วทางสมาพันธ์เปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่อย่างสิ้นเชิงโดยส่งผลให้ “กำลังของเครื่องยนต์” เป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า aerodynamics ส่งผลให้ Mercedes Benz ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ที่ดีที่สุดในการแข่งขันกลับขึ้นมาคว้าแชมป์ได้ 2 ปีติดกัน
ดังนั้น ถ้ากีฬาใดกีฬาหนึ่งมีการสร้างหรือปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์บางอย่างขึ้นมาอันจะส่งผลต่อ “ศักยภาพ” ของทีมหรือผู้เล่นอย่างเฉียบพลัน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าให้ความสำคัญเพราะนั่นหมายความว่า การแพ้ชนะ มิได้มาจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากความทุ่มเทในการซ้อมหรือเตรียมตัว แต่มาจากจังหวะอันบังเอิญสอดคล้องกับ “ความต้องการของผู้ร่างกฎเกณฑ์” เสียมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าไม่สะท้อน จิตวิญญาณ ที่แท้จริงของการแข่งขัน เชื่อได้ครับว่าถ้าอีก 2-3 ปีมีการเปลี่ยนกฏเกฎฑ์ใหม่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ฯลฯ เราจะได้เห็นทีมใหม่ขึ้นมาครองตำแหน่งแชมป์อย่างแน่นอน

ในทางกลับกันสมัย Tiger Woods เริ่มเข้าแข่งขันกอล์ฟแรกๆ เค้าเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า กอล์ฟ คือ กีฬา ไม่ใช่ งานอดิเรก มาใช้ ส่งผลให้เค้าทุ่มเทการฝึกฝนร่างกายและความฟิตแบบที่นักกอล์ฟไม่เคยทำมาก่อน นำเกมประเภท power play มาสู่กอล์ฟ นี่คือการพัฒนาศักยาภาพจากความทุ่มเทและจริงจังกับกีฬาที่กฏเกฎฑ์ไม่เปลี่ยนไปมาหลายร้อยปีแล้ว แม้ว่า Tiger Woods จะคว้าแชมป์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีใครสู้ได้ แต่ต้องยอมรับครับว่านั่นคือยุคทองของกีฬากอล์ฟยุคหนึ่งเลยทีเดียวที่เรตติ้งคนติดตามเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนเพื่อดู Tiger Woods เล่นและชนะคนอื่นๆ ขาดลอย

อีกปัจจัยหนึ่งที่ผมคิดว่ามีผลสำคัญต่อความนิยมในกีฬาที่ถูก dominate ด้วยทีมหรือคนไม่กี่คนก็คือ ความศรัทธา และ ความคลั่งไคล้ ในทีมของบรรดาแฟนๆ ซึ่งต้องมีพื้นเพมาจากความผูกพันธ์ทางประวัติศาสตร์หรือทางใดทางหนึ่งที่มีผลให้เกิด passion กับทีมนั้นๆ อย่างแรงกล้า

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นทีมฟุตบอลในลีกต่างๆ ผมเชื่อเลยครับว่าไม่มีใครคนไหนที่จะบอกว่าเบื่อเวลาเห็นทีมอย่าง Man U หรือ Bayern Munich หรือ Barcelona คว้าแชมป์ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง นั่นก็เป็นเพราะทีมเหล่านี้ถูกสร้างความนิยมมาบนพื้นฐานของ locality ของคนพื้นเมือง บนประวัติศาสตร์การล้มลุกคลุกคลานนานหลายสิบปีที่บรรดาแฟนบอลทั้งในและนอกประเทศร่วมเสพด้วยกันมา สร้างความรู้สึกร่วมอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผมคิดว่าแตกต่างระหว่างการมีขาย franchise ทีมกีฬาในสหรัฐฯ ที่มีการย้ายทีมจากท้องที่หนึ่งไปยังท้องที่หนึ่งและผมเชื่อว่าจะเป็นกำแพงที่ปิดกั้น ความรู้สึกร่วมอย่างต่อเนื่อง ของฐานแฟนตัวเองสำหรับการมองกีฬาในเชิงธุรกิจเช่นนั้นของฝั่งสหรัฐฯ

เรารู้ดีว่าทีมอย่าง Man U หรือ Barcelona ไม่มีวันล่มสลาย ไม่มีวันสูญหายไปจากโลกนี้ เพราะฉะนั้นการติดตามดูการขึ้นและลงของ ศักยภาพ ทีมถือว่าเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ทีม ถ้าทีมจะคว้าแชมป์ต่อเนื่องกันทุกปีเราก็ไม่รังเกียจเพราะสำหรับคนที่เชียร์นั่นคือการร่วมลุ้นให้ทีมนั้นๆ สร้างสถิติใหม่ขึ้นมา ในขณะที่คนที่เกลียดก็ลุ้นให้พลาดและมีสักปีที่เยาะเย้ยได้แบบเต็มปากเต็มคำ ในขณะที่ทีมรถสูตร 1 มีโอกาสล้มหายตายจากไปจากการแข่งขันอันด้วยขาดสปอนเซอร์สนับสนุนหรือแบรนด์รถนั้นๆ ถอนตัวจากการแข่งขันอย่างที่ Toyota และ Honda เคยทำมาแล้ว
วันนี้เราพูดถึงกีฬาประเภท ทีม ไปเสียเยอะ ครั้งหน้าเราลองมาดูกันต่อครับว่าการที่กีฬาประเภทเล่นคนเดียวบางอย่างที่มีตัวเอกอยู่ไม่กี่คน จะเป็นข้อดีหรือข้อเสียต่อกีฬานั้นๆ อย่างไร อย่าลืมติดตามนะครับ

Related Articles

ความแตกต่าง

ความแตกต่างที่สร้างความได้เปรียบ: Diversity vs. Victory

ใครที่ติดตามวงการกรีฑาเชื่อว่าคงรู้จักนักวิ่งหญิงชาวแอฟริกาใต้ที่ชื่อว่า Caster Semenya ที่เคยชนะเลิศวิ่ง 800 เมตร การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนที่กรุงเบอร์ลิน ตอนนั้นเธอชนะคู่แข่งขาดลอยและเป็นที่เพ่งเล็งของวงการ เพราะโดนหาว่าได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นเนื่องจากมีฮอร์โมน Testosterone ของเพศชายมากกว่าปกติทำให้ร่างกายของเธอแตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปคือแข็งแรงและแกร่งกว่ามาก จากกรณีของเธอทำให้ระยะหลังๆ สมาพันธ์กรีฑานานาชาติ หรือ IAAF เริ่มสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อจำกัดไม่ให้นักกรีฑาหญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายดังกล่าวสูงเกินปกติได้เปรียบคนอื่นๆ ด้วยการบังคับให้ตรวจระดับฮอร์โมนเป็นระยะๆ

วิธีการนอน เคล็ดลับกระตุ้นฟอร์มของนักกีฬา

“การนอนหลับ” เรื่องใกล้ตัวของคนเราทุกคนที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน ไม่เว้นแต่นักกีฬาระดับโลกที่ต้องอาศัยการพักผ่อนที่ถูกต้องตามหลักมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันหรือฝึกซ้อมด้วยเช่นกัน