Gentlemen's Sport

Gentlemen’s Sport การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกที่เพิ่งจบไป

Gentlemen’s Sport

ไม่ทราบว่ามีผู้อ่านที่เป็นแฟนฟุตบอลกี่ท่านที่ติดตามการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกที่เพิ่งจบไปไม่นานทั้งรักบี้และฟุตบอล ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากในประเทศอังกฤษเหมือนกัน และเป็นเรื่องตลกปนเศร้าที่ทีมรักบี้ทีมชาติอังกฤษก็ตกรอบแรกอย่างหน้าแตกภายหลังการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มไปเพียงแค่ 2 นัดเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับทีมฟุตบอลจากฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดครับ และนี่รู้สึกว่าจะเป็นครั้งแรกของการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกที่เจ้าภาพตกรอบแรกเสียด้วย ถ้าดูฟอร์มแล้วนัดที่แพ้ออสเตรเลียก็ต้องยอมรับครับว่าทีมอังกฤษสู้ไม่ได้จริงๆ ในทุกๆ ด้าน

พูดถึงทั้งรักบี้และฟุตบอลแล้ว มันมีคำกล่าวที่มักถูกยกมาใช้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกีฬาสองประเภทนี้ เค้าว่ากันว่า “Rugby is a game for thugs played by gentlemen; football is a game for gentlemen played by thugs” ซึ่งแปลได้ว่า “รักบี้คือกีฬาของอันธพาลที่ผู้เล่นเป็นสุภาพบุรุษ ในขณะที่ฟุตบอลคือกีฬาของสุภาพบุรุษที่ผู้เล่นเป็นอันธพาล”

มาว่ากันที่รักบี้ก่อน ใช่ครับ ถ้าคุณเป็นคนชอบและสะใจกับความรุนแรง ต้องบอกครับว่ารักบี้เป็นกีฬาอันหนึ่งที่ต้องดูเลยทีเดียว เพราะตลอด 80 นาทีของการแข่งขันเราจะได้เห็นแอคชั่นของ “คนชนคน” อย่างต่อเนื่อง มีดึงเสื้อ รวบขา เอาไหล่อัดลำตัว ฉุดกระชากลากดึง แถมยังมี “เบรค” ระหว่างการเล่นน้อยมากด้วยเมื่อเทียบกับกีฬาคล้ายๆ กันอย่างอเมริกันฟุตบอล

แต่ลองดูดีๆ ครับเวลามีการถ่ายทอดสดการแข่งขันรักบี้ไม่ใช่กีฬาที่ “เถื่อน” อย่างที่เห็น เราไม่เคยเห็นหรือน้อยมากที่จะเห็นนักกีฬารักบี้ชกต่อยหรือสบถใส่กันในสนาม (สำหรับทัวนาเมนต์ระดับชาตินะครับ ในระดับสโมสรก็มีบ้าง) เราเห็นน้อยมากกับการที่นักรักบี้จะ tackle คู่แข่งด้วยมาดหมายที่จะให้บาดเจ็บ อีกอย่างหนึ่งเลยที่จะเห็นได้ชัดคือมีน้อยครั้งมากที่เราจะเห็นนักรักบี้ “แกล้งเจ็บ” หรือ “ตบตา” กรรมการเพื่อเอาฟาล์วหรือเอาเปรียบคู่แข่งขัน ไม่เหมือนนักฟุตบอลสมัยนี้ที่พุ่งล้มหรือแอบชักศอก ฯลฯ กันเป็นว่าเล่นและท่านผู้อ่านลองดูตอนจบของการถ่ายทอดสดรักบี้ชิงแชมป์โลกสิครับ จะเห็นว่าทั้งสองทีมไม่ว่าใครจะแพ้หรือชนะ ทั้งคู่จะสลับกันตั้งแถวปรบมือให้อีกทีมเดินผ่านกลับเข้าห้องแต่งตัวอย่างสมเกียรติ

นอกจากนี้เราจะเห็นได้เลยครับว่าชีวิตของกรรมการรักบี้ที่อยู่ในสนามกับชายล่ำบึ้กหนวดเครายาวรุ่มร่ามอีก 30 คนมันง่ายกว่ากรรมการฟุตบอลที่ต้องอยู่กับบรรดานักเตะเจ้าสำอางค์ 22 คนในสนามฟุตบอลยิ่งนัก กรรมการรักบี้ไม่เคยถูกชี้หน้าด่า ไม่เคยถูกสบถใส่ และนักรักบี้ทุกคนจะใช้คำว่า “sir” ในการขานรับกับกรรมการในสนาม ในขณะที่กรรมการฟุตบอลกลับถูกปฏิบัติด้วยในทางตรงกันข้าม เผลอๆ จบเกมต้องรีบวิ่งเข้า tunnel อย่างรวดเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนชี้หน้าด่าพ่อล่อแม่ด้วยคำหยาบเสียด้วยซ้ำ

ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เค้าว่ากันว่าเพราะประวัติศาสตร์ของเกมกีฬารักบี้มีที่มาจากโรงเรียนประจำของบรรดาผู้ดีมีตระกูลในเมืองที่ชื่อว่า Rugby ของอังกฤษ (คล้ายๆ Eton หรือ Winchester นั่นแหละครับ) ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ในสมัยก่อนคือแหล่งศึกษาของลูกท่านหลานเธอของบรรดาชนชั้นศักดินาซึ่งจะต้องถูกบ่มเพาะให้โตเป็นเจ้าคนนายคน ไปช่วยบริหารการปกครองในยุคสมัยที่อังกฤษยังมีอาณานิคมอยู่ กฏเกณฑ์ ความเป็นระเบียบ มายาท วินัย และสำคัญที่สุดคือความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังกันในหมู่ชนเหล่านี้เพราะเค้าเชื่อกันว่านี้คือสิ่งที่ชนชั้นปกครองต้องมี (ซึ่งก็ไม่จริงเสมอไปหรอกครับ)

คนที่เคยเล่นกีฬาทั้งสองประเภทจะทราบดีว่ารักบี้มีกติกาละเอียดกว่าฟุตบอลเยอะ กฏบางอันยากที่จะเข้าใจ แต่ลองสังเกตสิครับ ในขณะที่ทั้ง 30 คนปลุกปล้ำกันเพื่อแย่งลูกรักบี้อย่างอุตลุด แต่ทุกคนจะรู้ดีว่าอะไรที่ทำได้อะไรที่ทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ช่องว่างในการเล่นตุกติกมีเยอะมาก กรรมการจะสังเกตเห็นหรือจับได้ก็ยากกว่าฟุตบอลเยอะ แต่การฟาล์วก็เกิดน้อยมากเพราะนักกีฬารักบี้ยึดถือในกฏกติการที่ได้ถูกวางเอาไว้อย่างเคร่งครัด (กว่าฟุตบอล)

ยิ่งกว่านั้น ล่าสุดเราก็เห็นภาพของนักรักบี้ทีมชาติเวลส์เชิญชวนทีมชาติอุรุกวัยที่เพิ่งแข่งกันเสร็จมาร่วมสังสรรค์ดื่มเบียร์และดูการถ่ายทอดสดคู่แข่งขันต่อไปด้วยกันอย่างเฮฮา นี่แสดงถึงสปิริตของคนที่แข่งขันกันอย่างชัดเจน ผมเกิดมายังไม่เคยเห็นทีมฟุตบอลสโมสรหรือระดับชาติไหนทำแบบนี้เลยนอกจากเวลาที่พวกผมเล่นกันเองเป็นประจำกับเพื่อนฝูงก็อยากสังสรรค์เฮฮากันต่อบ้างทุกครั้ง

แล้วฟุตบอลล่ะครับ ทำไมถึงมาถึงจุดที่ “ความเถื่อน” มันชัดแจ้งมากจนกระทั่งบางทีผมยังนึกเลยว่าเด็กๆ เยาวชนที่ดูการถ่ายทอดสดแม็ตช์เหล่านี้สุ่มเสี่ยงต่อการซึมซับความรุนแรงไม่แพ้ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่ยิงกันเลือดสาดนะครับ

เค้าว่ากันว่าฟุตบอลในอังกฤษเริ่มฮิตในหมู่ชนแรงงานยุคปลายทศวรรษที่ 19 เนื่องจากเป็นเกมกีฬาที่ง่ายต่อการเล่น กฏกติกาต่างๆ ก็ไม่เยอะ ห้ามใช้มือ ก็เท่านั้น และสามารถประยุกต์เล่นที่ไหนก็ได้ ในสนาม ข้างถนน ห้องเรียน โรงงาน ฯลฯ จนทำให้กีฬานี้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในชนชั้นแรงงาน

จากที่หาข้อมูลมา มีอยู่ 5 คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “สุดยอดความเถื่อน” ของวงการฟุตบอลอังกฤษร่วมสมัยก็คือ Vinnie Jones, Roy Keane, Lee Bowyer, Ben Thatcher และ Joey Barton ซึ่งแฟนบอลคงพอทราบวีรกรรมของแต่ละคนดี ซึ่งก็มีข้อคิดที่น่ารับฟังจาก Joey Barton หมายเลขหนึ่งที่เค้าเคยกล่าวไว้ว่าอยากให้คนเข้าใจนักฟุตบอลสักนิดหนึ่งว่าพวกเค้าจริงๆ ก็ไม่ได้อยากจะเป็น role model ให้เด็กๆ หรอก แต่ด้วยค่าเหนื่อยมหาศาล สถานะและความฟู่ฟ่าของเกมนี้มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนจะมองนักฟุตบอลเป็นฮีโร่ “แต่ไม่มีใครเคยสอนวิธีให้ผมรับมือกับความรวยอันนี้นี่ ผมไม่เคยได้รับการอบรมให้เป็นสุภาพบุรุษ ไม่ใช่ว่าผมเงินเดือนเยอะแล้วผมจะกลายเป็นสุภาพบุรุษได้ทันที่นะ ผมเป็นแค่เด็กชนชั้นกลางล่างที่มาจากบ้านการเคหะของรัฐบาลคนเดิมนั่นแหละ”

ในขณะที่นักรักบี้เล่นเกมตามกฏกติกา นักฟุตบอลอันธพาลจะคอยหาโอกาสตอดเล็กตอดน้อยให้คู่แข่งอารมณ์เสีย ไม่กล้าเล่น หรือบาดเจ็บ กองหน้าเจ้าเล่ห์ก็คอยหาโอกาสพุ่งล้มตบตากรรมการ ในขณะที่ทีมรับบี้มีสปิริตสังสรรค์กันหลังเกม บรรดานักฟุตบอลทั้งหลายกลับหยิบกุญแจรถสปอร์ตหรูแล้ว  ซิ่งออกไปหาความสุขส่วนตัวโดยไม่สนใจใคร ในขณะที่นักรักบี้ยืนเข้าแถวปรบมือให้คู่แข่งหลังจบเกม บรรดานักฟุตบอลและผู้จัดการทั้งหลายก็เตรียมที่จะให้สัมภาษณ์หลังเกมด้วยวาจาถากถาง แดกดัน เยาะเย้ยกันผ่านสื่ออยู่เรื่อยๆ นี่แหละครับความแตกต่างของกีฬาที่ว่าด้วยเรื่องของ Thug และ Gentlemen

ตบท้ายอีกนิดด้วยกีฬาประเภทที่ 3 ที่ผมก็ติดตามเสมอ สิ่งที่เราเห็นกันประจำในการแข่งเทนนิสระดับโลกก็คือการให้เกียรติกันและกันระหว่างคู่แข่ง ลองดูครับเวลาแม็ทช์ชิงชนะเลิศระหว่าง Djokovic กับ Federer แข่งกันจบ ไม่ว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ ทั้งคู่ต่างก็พร้อมใจที่จะชื่นชมคู่แข่งของตัวเองอย่างเต็มใจและไม่เสแสร้ง เพราะทั้งคู่รู้หน้าที่ดีว่าเมื่อการแข่งขันจบลง หน้าที่ของทั้งคู่ก็คือตัวแทนของนักกีฬาเทนนิสที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นหลังๆ เดินตามอย่างในวิถีที่ถูกต้อง ดังนั้นผมไม่แปลกใจที่เห็นเด็กรุ่นใหม่ๆ กล้าที่จะสบถใส่กรรมการในสนาม เพราะตัวอย่างความเป็น Thug มันเห็นกันอยู่ทุกเสาร์-อาทิตย์นี่แหละครับ น่าเป็นห่วงกันไหม

ที่มาของภาพ
hxxp://dailymail.co.uk

Related Articles

ความแตกต่าง

ความแตกต่างที่สร้างความได้เปรียบ: Diversity vs. Victory

ใครที่ติดตามวงการกรีฑาเชื่อว่าคงรู้จักนักวิ่งหญิงชาวแอฟริกาใต้ที่ชื่อว่า Caster Semenya ที่เคยชนะเลิศวิ่ง 800 เมตร การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนที่กรุงเบอร์ลิน ตอนนั้นเธอชนะคู่แข่งขาดลอยและเป็นที่เพ่งเล็งของวงการ เพราะโดนหาว่าได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นเนื่องจากมีฮอร์โมน Testosterone ของเพศชายมากกว่าปกติทำให้ร่างกายของเธอแตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปคือแข็งแรงและแกร่งกว่ามาก จากกรณีของเธอทำให้ระยะหลังๆ สมาพันธ์กรีฑานานาชาติ หรือ IAAF เริ่มสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อจำกัดไม่ให้นักกรีฑาหญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายดังกล่าวสูงเกินปกติได้เปรียบคนอื่นๆ ด้วยการบังคับให้ตรวจระดับฮอร์โมนเป็นระยะๆ

วิธีการนอน เคล็ดลับกระตุ้นฟอร์มของนักกีฬา

“การนอนหลับ” เรื่องใกล้ตัวของคนเราทุกคนที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน ไม่เว้นแต่นักกีฬาระดับโลกที่ต้องอาศัยการพักผ่อนที่ถูกต้องตามหลักมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันหรือฝึกซ้อมด้วยเช่นกัน