การกระทำความรุนแรงทางใจ
แผลที่บาดลึกในใจ
ภัยที่มองไม่เห็น

โปรดคิดก่อนที่จะพูดออกไป
เพราะการพูดทำร้ายจิตใจ
อาจสร้างบาดแผลในใจให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัว

ทุกคนรู้ไหมคะว่าในประเทศไทยมีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า 7 คน ต่อวัน และประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อพูดถึงการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยส่วนมากหลายคนอาจจะนึกถึงการทำร้ายร่างกายหรือการกระทำความรุนแรงทางเพศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีการกระทำความรุนแรงทางด้านจิตใจหรือการทำร้ายด้วยคำพูดอีกด้วย ซึ่งการทำร้ายจิตใจด้วยคำพูด เช่น การใช้คำพูดที่หยาบคาย ดูหมิ่น ไม่ให้เกียรติ อาจทำให้ใครบางคนรู้สึกด้อยค่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพจิตของผู้ที่ถูกกระทำไม่แพ้การกระทำความรุนแรงในรูปแบบอื่นเลยนะคะ 

การถูกกระทำความรุนแรงทางด้านจิตใจเป็นรูปแบบการกระทำความรุนแรงที่ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด ซึ่งมากกว่าการทำร้ายร่างกายและการกระทำความรุนแรงทางเพศอีกด้วย และไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงหรือใครก็แล้วแต่ไม่ควรถูกกระทำความรุนแรงในรูปแบบไหนทั้งนั้นค่ะ 

วันนี้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล Mental Life by Chanisara จะชวนทุกคนมาคิดถึงภัยความรุนแรงทางด้านจิตใจที่ไม่ควรมองข้ามเพราะ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพจิตของเรา และเมื่อผู้หญิงถูกทำร้ายจิตใจต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองนะคะ รวมถึงมาบอกวิธีรับมือเมื่อถูกทำร้ายจิตใจและร่างกายกันค่ะ

International Day for the Elimination of Violence against Women)

การทำร้ายจิตใจบาดแผลฝังลึกที่มองไม่เห็น

การทำร้ายจิตใจเป็นภัยความรุนแรงที่เราทุกคนไม่ควรมองข้ามเพราะเกิดได้กับทุกคนและทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อน คนรัก ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ซึ่งการกระทำรุนแรงทางด้านจิตใจที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทั้งอารมณ์ความรู้สึก โดยใช้วิธีการพูดบั่นทอนให้รู้สึกแย่ ด้วยการใช้วิธีการต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมากและเกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวตามมา ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดความเครียดสะสม ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า รวมถึงเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย เพราะหากเกิดความเครียด จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงและทำให้ป่วยง่ายอีกด้วยค่ะ 

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทุกคำพูดที่เรากล่าวออกมา ถ้าหากเป็นคำพูดที่ไม่ดีก็มีอานุภาพทำร้ายใครจนอาจเกิดเป็นแผลใจให้เขาไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ค่ะ คำพูดอาจจะเป็นพรวิเศษสำหรับใครบางคนทำให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป แต่ก็สามารถทำร้ายใครบางคนได้เลยนะคะ เราจึงคิดเสมอว่าไม่ว่าเราจะพูดอะไรออกไปเราต้องคิดก่อนพูด เพื่อไม่ให้คำพูดของเราไปทำร้ายใครนั่นเองค่ะ 

เมื่อผู้หญิงถูกทำร้ายจิตใจต้องปกป้องตัวเอง

การพูดทำร้ายจิตใจเป็นการกระทำรุนแรงทางจิตใจ ที่สร้างบาดแผลให้กับคนจำนวนมาก ในประเทศไทยโดยเฉพาะผู้หญิงต้องเผชิญการกระทำความรุนแรงทางด้านจิตใจมากที่สุด จากการสำรวจความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนในครอบครัวระดับประเทศ โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาลัยมหิดล พบว่า มีการกระทำความรุนแรงทางด้านจิตใจมากที่สุดถึง 32.3%  การกระทำความรุนแรงทางด้านร่างกาย 9.9% และการกระทำความรุนแรงทางเพศ 4.5% ( ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดปี 2563) 

ซึ่งหากผู้หญิงคนไหน โดนทำร้ายจิตใจต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง หรือถอยออกมาจากคนที่ทำให้เราเสียความรู้สึก และหันกลับมารักตัวเอง รักษาความรู้สึกตัวเอง และอย่าให้ใครมาทำร้ายความรู้สึกของเรา

ถึงแม้ปัจจุบันบริบทของสังคมจะเปลี่ยนไปจากในอดีตมากแล้ว แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีผู้หญิงที่อดทนกับการถูกทำร้ายจิตใจอยู่ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ อาจเพราะไม่อยากทำให้ครอบครัวแตกแยก ไม่อยากถอยออกมาจากความสัมพันธ์นั้น หรือยังมีความรักให้คนคนนั้นอยู่ จึงอดทนแล้วหวังว่าในอนาคตการทำร้ายจิตใจจะลดลงเรื่อยๆนั่นเองค่ะ แต่เรามองว่าไม่ว่าเราจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศไหน ไม่ควรมีใครถูกทำร้ายจิตใจอยู่ดีค่ะ

รูปแบบของความรุนแรงทางจิตใจ ภัยที่มองไม่เห็น

การทำร้ายจิตใจมีหลายรูปแบบ ดังนี้

การใช้คำพูดวิจารณ์ทำให้เกิดความอับอาย

การใช้คำพูดที่ทำให้เหยื่อเกิดความอับอาย ต่อหน้าผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอ การดูถูก การพูดจาเยาะเย้ยถากถาง หรือการล้อเล่นที่ทำให้คนอื่นเกิดความไม่สบายใจ 

การบงการชีวิต

การบงการชีวิต ควบคุมเหยื่อในทุกๆ ด้าน ไม่ให้ตัดสินใจอะไรเอง เช่น การเลือกเสื้อผ้า การกิน การเช็คโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ

การตัดขาดความเป็นเพื่อนหรือครอบครัว

 การที่คนรอบข้างตัดขาดความเป็นเพื่อนหรือครอบครัว ไม่พูดด้วย ไม่ให้ความสนใจ ไม่เห็นคุณค่าของเหยื่อ

การใส่ร้ายป้ายความผิด 

การพูดจาใส่ร้ายทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกผิด ทั้งที่เขาไม่ได้ผิด ทำเหมือนให้ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำทั้งที่ตัวเองเป็นคนพูดจาใส่ร้ายเหยื่อ

การข่มขู่ด้วยคำพูด

การพูดจาข่มขู่เหยื่อ ระเบิดอารมณ์ออกมาโดยที่ผู้กระทำควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เช่น การขู่ว่าจะเลิก หรือทำร้ายเหยื่อ ฯลฯ

จงใจพูดให้เชื่อว่าเหยื่อกระทำความผิดจริง

พูดจงใจให้เหยื่อรู้สึกว่าเขาทำผิดจริง โดยใช้หลักจิตวิทยา ทำให้เหยื่อตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเขากระทำผิดจริงหรอ ซึ่งจะทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกผิดจริงทั้งที่ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ

ละเลยไม่สนใจ 

ละเลยไม่สนใจเหยื่อ ไม่ให้ความสำคัญกับเหยื่อ ไม่ support เมื่อเหยื่อเกิดปัญหา สนใจแต่ตัวเองนั่นเองค่ะ 

วิธีรับมือเมื่อถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ

อย่ากลัวคำขู่

เพราะหากปล่อยไว้ปัญหาจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการถูกทำร้ายร่างกาย หรือการถูกทำร้ายจิตใจไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยผ่านได้ค่ะ

ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หากพบเห็นผู้หญิงที่ถูกทำร้ายควรแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือทันที

รู้จักปฏิเสธให้เป็น

ไม่ให้ผู้อื่นมาแตะเนื้อต้องตัวโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต หากรู้สึกไม่เต็มใจเมื่อถูกสัมผัส เรามีสิทธิที่จะปฏิเสธทันทีเพื่อให้ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย

ไม่โทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง

ไม่โทษว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง เพราะคนผิดคือผู้กระทำไม่ใช่เรา 

ระบายความรู้สึกให้กับคนที่ไว้วางใจ

ระบายความรู้สึกให้ใครสักคนที่เราไว้วางใจฟัง เพื่อเป็นการปลดปล่อยความทุกข์และทำให้รู้สึกสบายใจมากยิ่งขึ้น การปลดปล่อยความทุกข์จะลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับสุขภาพจิตในระยะยาวนั่นเองค่ะ

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชายหรือเพศอะไรก็ไม่ควรมีใครถูกทำร้ายจิตใจทั้งนั้นค่ะ ถ้าเรารู้สึกว่ากำลังถูกทำร้ายจิตใจให้เราลุกขึ้นสู้ปกป้องตัวเอง หรือถอยออกมาจากความสัมพันธ์นั้นนะคะ เราต้องรักตัวเองและดูแลหัวใจตัวเองให้ดีที่สุดค่ะ


Source 

https://dmcrth.dmcr.go.th/ckeditor/upload/files/id147/dgr.pdf 

https://theactive.net/news/rights-20231125/ 

https://www.thaipbs.or.th/news/content/337786 

https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1032414 

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1102279 

Related Articles

Christmas Presents

Christmas Presents : ทำไมการให้ของขวัญถึงสร้างความสุขและความผูกพันในระยะยาว

การมอบของขวัญให้กัน จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ช่วยกระชับความสัมพันธ์ และทำให้ผู้รับรู้สึกอบอุ่นหัวใจ OH OH OH เทศกาลคริสต์มาส เป็นเทศกาลที่หลายคนรอคอยใช่ไหมล่ะคะ ถึงเทศกาลนี้ที่ไร หลายคนมักแฮปปี้ทุกที หากถามว่าเมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาส ทุกคนคิดถึงอะไรกัน หลายคนบอกว่า คิดถึงซานตาคลอส คิดถึงต้นคริสต์มาส คิดถึงการท่องเที่ยว คิดถึงการกลับไปหาครอบครัวและอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ หลายคนคงคิดถึงการให้หรือการได้รับของขวัญกันใช่ไหมล่ะคะ แล้วทุกคนรู้ไหมคะว่าการให้หรือการได้รับของขวัญในเทศกาลคริสต์มาส

Legally Married LGBTQIA+ Couples

Legally Married LGBTQIA+ Couples : การครองรักหลังจดทะเบียนสมรส 

ชีวิตแต่งงานจะมั่นคงและยืนยาว ขึ้นอยู่กับการแสดงความรัก ความเข้าใจและการให้เกียรติกัน อีกไม่กี่วันก็ถึงวันที่ทุกคนรอคอยกันแล้ว วันที่คนไทยทุกคนจะสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีคู่รัก LGBTQIA+ ขอแต่งงานกันหลายคู่แล้ว เพื่อจะจดทะเบียนสมรสกัน ภายหลังจากวันที่ 22 มกราคม 2025 นี้ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกบังคับใช้ วันนั้นจะเป็นวันที่ประตูแห่งความเท่าเทียมถูกเปิดออกและคู่รักทุกคู่จะได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงค่ะ ภายหลังจากจดทะเบียนสมรสกันได้พวกเขาสามารถเริ่มต้นชีวิตคู่ ภายใต้สิทธิทางกฎหมายที่หลายคนรอมาอย่างยาวนาน และเราเชื่อว่าคนที่ร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้กฎหมาย สมรสเท่าเทียมมาบังคับใช้ในประเทศไทย จะต้องรู้สึกภูมิใจและดีใจที่สิ่งที่พวกเขาร่วมต่อสู้กันมาประสบความสำเร็จในวันนี้ 

Human right

Human Rights : เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ทุกคนสมควรจะได้รับ

เมื่อเราได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เราจะรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย หากพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและถามว่าสิทธิมนุษยชนสำคัญกับเรามากขนาดไหน ทุกคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันใช่ไหมล่ะคะว่าสิทธิมนุษยชนสำคัญกับพวกเราทุกคน เพราะ เป็นสิทธิ เสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับตั้งแต่วันแรกที่คลอดออกมาจากท้องแม่ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เป็นคนชาติไหน นับถือศาสนาอะไร เราก็ควรจะได้รับสิทธิมนุษยชน โดยที่ไม่มีใครสามารถพรากสิทธิเหล่านี้ไปจากเราได้ เช่น สิทธิในการทำงาน สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน สิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม สิทธิที่จะได้รับความเป็นอยู่ที่ดีตามสิทธขั้นพื้นฐาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ส่วนหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับเมื่อเกิดมาอยู่บนโลกใบนี้ค่ะ