ภูเก็ต

ย้อนรอยร้านดัง ความหลังเรื่องกินเจ จ.ภูเก็ต

ประเพณีถือศีลกินผัก หรือที่เรียกขานกันทั่วไปในหมู่ชาวภูเก็ตว่า “เจี๊ยะฉ่าย” คืองานเฉลิมฉลององค์เก้าราชันย์หรือกิ๊วหองเส้งโห่ย ถือเป็นประเพณีประจำปีที่สำคัญและยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก ปฎิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลาเกือบ 200 ปี ซึ่งประเพณีถือศีลกินผักนี้เริ่มต้นครั้งแรกที่ไล่ทู้ หรือบริเวณอำเภอกะทู้ในปัจจุบันเมื่อปีพ.ศ. 2368 โดยครั้งนั้นได้นำอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงบทสวดมนต์จากเมืองกังไส ประเทศจีน มาประกอบพิธีกรรมเพื่อให้ถูกต้องและครบถ้วนตามหลัก

ประเพณีถือศีลกินผักยังมีส่วนสำคัญในการช่วยหล่อหลอมชาวภูเก็ต ทั้งชาวภูเก็ตพื้นเมืองและชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนหรือบาบ๋า ให้สืบทอดการเจี๊ยะฉ่าย เพื่อชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ส่งเสริมโชคชะตา ขจัดเภทภัย นำสิ่งดีเข้ามาสู่ผู้ปฎิบัติ และเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชนผ่านทางความเชื่อเรื่องการทำความดีและสร้างบุญกุศลร่วมกัน

ด้วยเหตุนี้เอง วัฒนธรรมการกินเจและร้านอาหารเจจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีการกินและเป็นที่นิยมในหมู่ชาวภูเก็ตมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีทั้งร้านที่ขายอาหารเจตลอดทั้งปีและร้านที่เปลี่ยนมาขายอาหารเจในช่วงงานประเพณี โดยทุกร้านต่างก็มีที่มา เรื่องราวของความผูกพันต่อประเพณีถือศีลกินผัก รวมไปถึงรสชาติอาหารเจที่เป็นสูตรเฉพาะของแต่ละร้านที่ชวนลิ้มลองทั้งสิ้น

ร่วมใจอาหารเจ: มากกว่าอาหารคือการดำเนินชีวิตในวิถีบริสุทธิ์

หนึ่งในร้านอาหารเจที่ชาวภูเก็ตต้องนึกถึงก่อนเป็นอันดับต้นๆเสมอแห่งนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะร้านอาหารเจแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ตและครองใจผู้คนที่นี่มายาวนาน ด้วยสไตล์อาหารไทยพื้นเมืองผสมอาหารจีนที่รสชาติจัดจ้าน เมนูอาหารหลากหลาย และราคาไม่แพง ตั้งอยู่ไม่ห่างจากศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งบนถนนระนอง ถนนซึ่งถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดหลักของการกินเจในช่วงประเพณีถือศีลกินผักในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ ดยครูน้อย คุณกรรณิการ์ ลออโรจน์วงศ์ หรืออาจารย์โหล ชื่อที่เรียกขานกันทั่วไปในหมู่ผู้ที่กินเจตลอดชีวิตในจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในผู้ดูแลตั้งแต่เปิดร้านเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว เล่าประวัติความเป็นมาของร้านให้เราฟังว่า ร้านนี้เป็นสาขาหนึ่งของมูลนิธิกุศลสันติธรรม ที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยส่งเสริมการศึกษาธรรมมะและการกินเจควบคู่กันไป สมัยเมื่อเปิดร้านครั้งแรกนั้น ทุกคนที่ปฎิบัติธรรมกับมูลนิธิต่างก็มาร่วมแรงร่วมใจกันช่วยทำงานภายในร้าน ไม่มีใครรับค่าจ้างแต่อย่างใด มาด้วยใจกันทุกคน นี่จึงเป็นที่มาของชื่อร้านร่วมใจอาหารเจ

Ruamjai_Phuket_Sansiri_J Festival (3) Ruamjai_Phuket_Sansiri_J Festival (5) Ruamjai_Phuket_Sansiri_J Festival (8)

ครูน้อยเล่าต่อไปว่า สมัยเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น ยังไม่มีร้านอาหารเจแม้แต่แห่งเดียวในภูเก็ต เมื่อถึงช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก ใครที่ต้องการกินเจก็จะต้องไปที่ศาลเจ้าหรืออ๊ามเท่านั้น และคนสมัยนั้นยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของการกินเจเหมือนเช่นทุกวันนี้ เพียงแค่กินกันตามสมัยนิยม กินตามผู้อื่นเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้พฤติกรรมการกินเจของคนที่นี่เปลี่ยนแปลงไปมาก จำนวนของคนที่สนใจในประเพณีถือศีลกินผักและปฎิบัติอย่างเคร่งครัดก็เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี คนหันมากินเจตลอดทั้งปีกันมากขึ้น ไม่ได้กินเฉพาะช่วงงานประเพณีอีกต่อไป จำนวนร้านอาหารเจจึงมีมากขึ้นตามลำดับและพบเห็นได้ทั่วไปตามย่านชุมชนทั่วทั้งภูเก็ตในปัจจุบัน

เอกลักษณ์ของประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ตที่ครูน้อยบอกว่าสามารถพบเห็นได้เด่นชัดคือ การแต่งกายด้วยชุดสีขาวตลอดเก้าวันของงานประเพณี ไปไหนมาไหนจะเห็นคนแต่งชุดขาวทั่วทั้งเกาะ เป็นการแสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตัวเราอยู่ในช่วงเจี๊ยะฉ่าย หรือการรับประทานอาหารที่ปรุงจากผัก, ส่งเก๊ง หรือการสวดมนต์ ถือศีล และเจ่เสียน หรืออาการสำรวม สงบนิ่ง

Ruamjai_Phuket_Sansiri_J Festival (4) Ruamjai_Phuket_Sansiri_J Festival (2) Ruamjai_Phuket_Sansiri_J Festival (1)

 

ร้านร่วมใจอาหารเจตกแต่งอย่างเรียบง่าย เน้นความสะอาดภายในร้าน และจำนวนโต๊ะเก้าอี้ที่มีจำนวนเพียงพอสำหรับรองรับลูกค้าที่เข้ามากินอาหารเจจำนวนมากในเกือบทุกวัน โดยเฉพาะในวันพระและช่วงเทศกาลที่คนจะมากกว่าปกติ มีอาหารหลากหลายกว่า 30 รายการที่ทำสดใหม่ตลอดวันให้เลือก เมนูรสชาติดีที่มาแล้วต้องสั่งคือผัดเผ็ดสะตอหมูสามชั้น, ปลาชะโดสามรส, ยำปลาเค็ม, ปลาราดเครื่องแกง, ยำผักภูเก็ต, ตับหวาน, ข้าวหมกไก่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสูตรที่ขายมานานตั้งแต่เปิดร้านและยังเป็นที่นิยมมาจนถึง

ร้านร่วมใจอาหารเจตั้งอยู่บนถนนระนอง ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ก่อนถึงศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งเพียงนิดเดียว เปิดขายทุกวันตั้งแต่เวลา 6.00 – 16.00 น. ช่วงประเพณีถือศีลกินผักจะเปิดขายไปจนถึงช่วงดึก

โยโภชนา : ความพยายามและศรัทธานำพาธุรกิจ

ร้านอาหารเจที่อยู่คู่ชุมชนสามกองมากว่า 15 ปีแห่งนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องอาหารเจรสกลมกล่อมตามตำรับไทยภาคกลางที่คุณโย นิยม วงเวียนคำ เจ้าของร้าน บรรจงสรรสร้างสูตรอาหารเจด้วยตนเองทั้งหมด คุณโยเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของร้านให้เราฟังอย่างอารมณ์ดีว่า กว่าจะมาเป็นร้านอาหารเจที่ทุกคนชื่นชอบอย่างทุกวันนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ได้ใช้วิธีลองผิดลองถูกและครูพักลักจำในเรื่องการทำอาหารเจ เดินทางไปลองกินอาหารเจตามศาลเจ้าทั้งในและต่างประเทศอยู่หลายที่ เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาพัฒนาสูตรอาหารเจของเรา พยายามอยู่นานกว่าจะได้รสชาติที่ลงตัว เป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าอย่างในทุกวันนี้ ร้านนี้มีที่มาจากการที่คุณโยมีความศรัทธานับถือในเทพเจ้า และเป็นคนชอบศึกษาปฎิบัติธรรมมะ รวมถึงกินเจในช่วงประเพณีถือศีลกินผัก พอปฎิบัติอย่างจริงจังได้ระยะหนึ่งและเห็นผลดีต่อตัวเอง จึงตัดสินใจหันมากินเจตลอดชีวิตและเปิดร้านขายอาหารเจควบคู่กันไปด้วย วัตถุประสงค์คือเพื่อให้คนที่ตั้งใจกินเจตลอดชีวิตเหมือนตน ได้มีอาหารเจกินตลอดทั้งปี ซึ่งตัวคุณโยเองกินเจมาร่วม 20 ปีแล้ว

Yo Pochana_Phuket_Sansiri Blog (1) Yo Pochana_Phuket_Sansiri Blog (5)

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนนั้น ในจังหวัดภูเก็ตมีร้านอาหารเจเปิดขายอยู่แถวถนนระนองประมาณ 3-4 ร้านเท่านั้น ร้านโยโภชนาเป็นร้านที่ขายอาหารเจตลอดทั้งปีร้านแรกในย่านสามกอง ชุมชนซึ่งถือได้ว่ามีความเก่าแก่และผู้คนพลุกพล่านมากที่สุดชุมชนหนึ่งของจังหวัด รวมทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของอ๊ามสามกอง หนึ่งในศาลเจ้าที่คนภูเก็ตให้ความเคารพนับถือมากศาลเจ้าหนึ่งเลยทีเดียว

เนื่องจากพื้นเพของคุณโยไม่ใช่คนภูเก็ตโดยกำเนิด ได้ย้ายจากบ้านเดิมที่จังหวัดกำแพงเพชรเพื่อมาอยู่ที่นี่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คุณโยมีความกังวลใจอยู่ไม่น้อยในทุกครั้งที่จะต้องคิดรายการอาหารเจแต่ละอย่างออกมาขาย เนื่องจากภูเก็ตขึ้นชื่อเรื่องอาหารเจและประเพณีที่ปฎิบัติกันอย่างเคร่งครัด เกรงว่าจะพลาดพลั้งใส่ส่วนประกอบต้องห้ามลงไปในอาหาร รวมถึงสมัยก่อนส่วนประกอบที่จะนำมาใช้สำหรับปรุงอาหารเจก็หาได้ยาก ไม่ได้หาซื้อได้สะดวกสบายเท่าสมัยนี้ คุณโยจึงต้องใช้ความพยายาม ใช้เวลาทุ่มเทศึกษาและเดินทางไปกินเจตามที่อื่นๆอยู่นานพอสมควรจนเกิดความเข้าใจทั้งในเรื่องการปรุง ส่วนประกอบและรสชาติเป็นอย่างดี จนมีความมั่นใจว่าอาหารเจของที่ร้านนั้น สะอาด ปรุงถูกต้อง และที่สำคัญคือลูกค้าติดใจในรสชาติ

Yo Pochana_Phuket_Sansiri Blog (3)Yo Pochana_Phuket_Sansiri Blog (2)

ร้านโยโภชนาตั้งอยู่เยื้องกับศาลเจ้าสามกอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นอาคารพาณิชย์ 3 คูหาติดถนนใหญ่ ตัวอาคารทาสีเหลืองสดใส สังเกตได้ง่าย เปิดบริการตั้งแต่ 6.00 น. – 22.00 น. ปัจจุบันมีทั้งหมด 7 สาขาทั้งในภูเก็ตและต่างจังหวัด

ดอกบัว : อดีต ปัจจุบัน และหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยน

ด้วยความโดดเด่นในเรื่องรสชาติอาหารเจในสไตล์ไทย จีน และอาหารพื้นเมืองภูเก็ต รวมถึงความเชี่ยวชาญและพิถีพิถันในการรังสรรค์รสเมนูอาหารที่หลากหลาย ทำให้ชื่อของร้านดอกบัวเป็นที่รู้จักในหมู่ของผู้นิยมรับประทานอาหารเจและอาหารสุขภาพในภูเก็ตมาเป็นเวลากว่า 9 ปีแล้ว
“ในวัยเด็กไม่เคยสนใจว่า ทำไมภูเก็ตต้องมีประเพณีถือศีลกินผักหรือเทศกาลกินเจ รู้แต่เพียงว่าเกิดมาก็เห็นประเพณีอยู่แล้ว”
คุณเพ็ญนภา สมนาม เจ้าของร้านดอกบัวอาหารเจเพื่อสุขภาพ เกริ่นกับเราขณะกำลังจัดเตรียมเมนูเจสูตรเด็ดของที่ร้านเพื่อให้เราได้ชิม “แม้หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปกาลเวลา แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่เสมอ ประเพณีที่สำคัญและเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ที่ยังคงยืนหยัดอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนที่นี่อย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นและแรงศรัทธาที่ปฎิบัติและถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของชาวภูเก็ต ซึ่งนั่นก็คือเทศกาลถือศีลกินเจหรือประเพณีถือศีลกินผัก”

Dokbua9

ภายในร้านตกแต่งด้วยสีขาวสะอาดตา ให้ความรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ด้านนอกร้านมีไม้ยืนต้นและไม้กระถางสวยงาม ช่วยให้ความร่มรื่นอยู่โดยรอบร้าน สร้างความรู้สึกสดชื่นให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการได้เป็นอย่างดี เมนูรสเยี่ยมที่ผ่านการปรุงมาอย่างพิถีพิถันและตกแต่งอย่างสวยงามที่มาแล้วต้องลองมีทั้ง เสือร้องไห้ ทำจากเห็ดหิมะปรุงรสและนำมาทอด ทานกับน้ำจิ้มแจ่วและผักสด, หมูคั่วเกลือ ใช้เนื้อหมูเจที่มีส่วนผสมของเห็ดหอมและบุก ทอดพอเหลือง ก่อนปรุงรสและนำลงไปผัดให้เข้ากับเกลือและใบมะกูด, แกงคั่วหอยขม เลือกใช้โคนเห็ดหอมอย่างดีแทนหอยขม นำไปแกงกับเครื่องแกงเผ็ด กะทิ ใบชะพลูและมะเขือพวง และหลากหลายเมนูที่ได้รับความนิยมเช่น แกงเผ็ดเป็ดย่าง, สลัดผักย่าง, เห็ดแครงคั่วกลิ้ง, เห็ดออรินจิผัดฉ่า, แกงเลียงผักรวม รวมถึงของหวานอย่างไอศกรีมผลไม้และสละลอยแก้ว

Dokbua6
ร้านดอกบัวตั้งอยู่ที่เลขที่ 2 ซอยราชพฤกษ์ ถนนเยาวราช อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ใกล้กับคอนโดมิเนียม The Base Height Phuket เปิดบริการตั้งแต่เวลา 10.30 – 20.30 น. ช่วงเทศกาลเปิดบริการ 8.00 – 22.00 น.

Kopitiam by Wilai: เอกลักษณ์ในรสชาติจากรุ่นสู่รุ่น

ใครที่เคยผ่านไปผ่านมาแถวถนนถลาง จังหวัดภูเก็ต นอกจากจะได้เพลิดเพลินไปกับสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีสของตึกรามบ้านช่องในละแวกนั้นแล้ว เป็นต้องสะดุดตาและหยุดถ่ายรูปกันที่ Kopitiam by Wilai กันแทบจะทุกคน ด้วยสไตล์การตกแต่งร้านอันโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศภูเก็ตในยุครุ่งเรืองของการทำเหมืองแร่ ยิ่งไปกว่านั้นคาเฟ่สุดเก๋แห่งย่านเมืองเก่าเจ้าของรางวัล Certificate of Excellence จากเว็บไซต์ท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง TripAdvisor ประจำปี 2015 แห่งนี้ ยังขึ้นชื่อเรื่องเมนูอาหารจีนและพื้นเมืองรสอร่อยที่หาทานที่ไหนไม่ได้

Kopitiam_Phuket_Sansiri Blog (5)Kopitiam_Phuket_Sansiri Blog (2)
คุณวิว วิวรรณ บำรุงวงศ์ เจ้าของร้าน เล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวความเป็นมาของคาเฟ่สุดคลาสสิคว่า เดิมทีพื้นเพครอบครัวทางฝั่งคุณแม่เคยเปิดโรงโกปี๊(ร้านกาแฟ) มาก่อนประมาณเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว บริเวณบ้านเดิมที่อำเภอกะทู้ ขายเครื่องดื่มจำพวกชา-กาแฟ ของว่างและขนมสำหรับรับประทานในตอนเช้า ซึ่งต่อมาภายหลังครอบครัวได้ย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง โรงโกปี๊ที่กะทู้จึงจำเป็นต้องเลิกกิจการไป จนเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว คุณแม่ได้เกษียญอายุจากงานข้าราชการครู จึงตัดสินใจกลับมาเปิดร้านอาหารอีกครั้งและให้ชื่อร้านว่าวิไล ซึ่งหลังจากร้านวิไลดำเนินกิจการมาได้ระยะหนึ่ง คุณวิวซึ่งขณะนั้นเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงานที่กรุงเทพฯ จึงตัดสินใจกลับบ้านที่ภูเก็ตเพื่อมาเปิดคาเฟ่อยู่ข้างๆร้านของคุณแม่ ซึ่งปัจจุบัน Kopitiam by Wilai เปิดบริการมาได้ 5 ปีแล้วKopitiam_Phuket_Sansiri Blog (6) Kopitiam_Phuket_Sansiri Blog (1)

ในทุกปีเมื่อถึงช่วงประเพณีถือศีลกินผัก ทางร้านจะเปลี่ยนไปขายอาหารเจเพื่อให้เข้ากับช่วงเทศกาลด้วยเช่นกัน สิ่งที่แตกต่างระหว่างอาหารเจภูเก็ตในอดีตและปัจจุบันที่สังเกตได้คือ สมัยก่อนจะไม่มีการใช้เนื้อสัตว์เจมาประกอบอาหาร ที่ใช้กันจะเป็นผักชนิดต่างๆและเต้าหู้เท่านั้น จนมาถึงช่วงระยะหลังหลายปีมานี้ที่เห็นว่ามีการใช้เนื้อสัตว์เจกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเนื้อสัตว์เจเหล่านี้ส่วนใหญ่นำเข้ามาจาก ปีนัง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งตรงนี้จะต่างไปจากอาหารเจภูเก็ตดั่งเดิมที่เรียกกันว่าประเพณี เจี๊ยะฉ่าย(กินผัก) เพราะจะใช้แค่ผักและเต้าหู้ในการปรุงอาหารเจเท่านั้นKopitiam_Phuket_Sansiri Blog (3) Kopitiam_Phuket_Sansiri Blog (4)

Kopitiam by Wilai ตั้งอยู่บนถนนถลาง ใจกลางแหล่งท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าที่ทรงเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต จำหน่ายอาหารไทย-จีน อาหารพื้นเมือง และเครื่องดื่มหลากชนิด ภายในอาคารรูปแบบชิโน-โปรตุกีสหลังนี้ ได้รับการตกแต่งอย่างพิถีพิถัน ด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์จีนร่วมสมัย เสริมสร้างบรรยากาศให้ดูสวยคลาสสิคยิ่งขึ้นด้วยข้าวของเครื่องใช้โบราณและรูปภาพเมืองภูเก็ตในอดีต ซึ่งได้รับการจัดวางไว้ภายในร้านอย่างลงตัว

ร้านเปิดวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 11.00 – 22.00 น. ปิดวันอาทิตย์ ช่วงประเพณีถือศีลกินผัก 4 วันแรกจะขายอาหารปกติควบคู่ไปกับอาหารเจ หลังจากนั้นจะขายอาหารเจอย่างเดียวไปจนจบเทศกาล

หมี่ต้นโพธิ์: รสชาติและพลังศรัทธาที่ต้องมาสัมผัส

ร้านอาหารพื้นเมืองที่เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ เจ้าของสโลแกน“มาภูเก็ตทั้งที ไม่กินหมี่ต้นโพธิ์ได้ไง”ที่ผู้มาเยือนต่างจดจำได้เป็นอย่างดี เปิดให้บริการความอร่อยมานานกว่า 70 ปีแล้ว ปัจจุบันมีคุณแมว อัญชลี หลิมชูตระกูล เจ้าของร้านรุ่นที่ 3 เป็นผู้ดูแลสืบทอดกิจการของครอบครัวแห่งนี้

MeeTonPoe_Phuket_Sansiri (4) MeeTonPoe_Phuket_Sansiri (5)

คุณแมวเล่าให้เราฟังว่า ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้านรุ่นแรกคืออาก๋อง(ปู่) เดิมทีเปิดเป็นร้านขายหมี่ผัดฮกเกี้ยนไม่ใหญ่โตมาก บริเวณหน้าบ้านที่อำเภอกะทู้ สมัยนั้นลูกค้าจะเรียกชื่อร้านว่าหมี่แป๊ะก็องตามชื่ออาก๋องของคุณแมว ช่วงกลางวันจะขายอยู่หน้าบ้านที่กะทู้ ส่วนช่วงเย็นอาก๋องจะขี่มอเตอร์ไซต์สามล้อมาขายในตลาดที่ตัวเมืองภูเก็ตด้วย ขายอย่างนั้นอยู่ระยะหนึ่งจนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงสามารถขยับขยายเข้ามาเปิดร้านในเมืองภูเก็ตได้ โดยย้ายจากกะทู้มาเปิดร้านที่บริเวณวงเวียนน้ำพุ จนกระทั่งถึงปีพ.ศ.2500 จึงได้ย้ายมาขาย ณ ทำเลที่เป็นร้านในปัจุบัน ซึ่งก็คือบริเวณหัวมุมถนนภูเก็ต ใกล้วงเวียนสุรินทร์ (วงเวียนหอนาฬิกา) ช่วงแรกที่ย้ายมาลูกค้ายังคงเรียกตามชื่อร้านเดิมว่าหมี่แป๊ะก็อง จนระยะหลังเริ่มมีคนเรียกว่าหมี่ต้นโพธิ์ เนื่องจากร้านตั้งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ และเรียกกันจนติดปากเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

MeeTonPoe_Phuket_Sansiri (2)

 

ในทุกปีช่วงประเพณีถือศีลกินผัก ทางร้านจะเปลี่ยนไปขายอาหารเจเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีอันยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวภูเก็ตเหมือนเช่นที่ถือปฎิบัติมาตลอด ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าประจำทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมากินอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจที่ร้านอย่างต่อเนื่องทุกปี เมนูเจที่ขายดีและแนะนำว่ามาถึงแล้วพลาดไม่ได้คือ “หมี่ผัดฮกเกี้ยนเจ” เมนูต้นตำหรับและมีชื่อเสียงที่สุดของที่ร้าน ซึ่งดัดแปลงจากสูตรปกติที่ขายมาเป็นสูตรเจ แต่ความอร่อยก็ไม่ได้ลดลงไปจากเดิมแต่อย่างใด, “ข้าวผัดต้มยำเจ”และ”ข้าวผัดเขียวหวานเจ” 2 เมนูข้าวรสจัดจ้านถึงเครื่องแกง และของว่างที่ลูกค้าติดอกติดใจต้องสั่งมาทานกันแทบทุกโต๊ะอย่าง “ถุงทองไส้เห็ด”MeeTonPoe_Phuket_Sansiri (3)

ร้านหมี่ต้นโพธิ์ปัจจุบันมี 3 สาขาแรก สาขา 1 วงเวียนสุรินทร์ เปิดบริการทุกวัน 9.00 – 18.30 น., สาขา 2 กะทู้ เปิดบริการทุกวัน 9.00 – 20.00 น., สาขา 3 ถนนศักดิเดชน์ เปิดบริการทุกวัน 10.00 – 20.30 น. ช่วงเทศกาลกินเจทางร้านจะหยุดเพื่อทำความสะอาดร้านและอุปกรณ์ใน 2 วันแรกและจะเปิดขายอาหารเจในวันที่ 3 เป็นต้นไปจนสิ้นสุดเทศกาล

คุณอาจสนใจบทความเกี่ยวกับการลงทุนในภูเก็ต Rise and shine: จากท่องเที่ยวถึงอสังหาฯ กับ 4 เหตุผลที่ทำให้ภูเก็ต hot ไม่เลิก  หรือดูไอเดียการแต่งห้องจากโครงการคอนโดมิเนียมของแสนสิริในภูเก็ตในที่ EAST MEETS WEST: 2 เสน่ห์การตกแต่งที่สะท้อนตัวตนภูเก็ต

Related Articles

ถือศีลกินผัก แสนสิริ-j-festival-thailand-phuket-ถือศีล-กินผัก-กินเจ-feature

ต้อนรับเทศกาลอิ่มบุญ เตรียมตัวให้พร้อมกับการถือศีล กินผัก

“ถือศีล กินเจ” เทศกาลยิ่งใหญ่ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ถูกสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี หากเหลือเวลาอีกเพียง 7 วัน ไปดูกันว่า 7 สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวก่อนเริ่มเทศกาลกินเจมีอะไรบ้าง

j festival thailand phuket_Boy กินเจ ถือศีลกินผัก ภูเก็ต แสนสิริ ไทยพาณิชย์

กินเจเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือวิถีใหม่

“เมื่อย่างก้าวเข้าไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใดก็ตาม พื้นที่นั้นก็เปรียบเสมือนชุมชนของเรา” จากแนวคิดนี้ แสนสิริจึงให้ความสำคัญกับการร่วมพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงามของของชุมชนนั้นด้วย เช่นเดียวกับที่ภูเก็ตใน “เทศกาลถือศีล กินผัก” หรือ “เจียะฉ่าย” ซึ่งมีเรื่องเล่ากันมาอย่างยาวนานเพื่อขอขมาเทพเจ้าและไล่โรคภัยไข้เจ็บมาเป็นประจำทุกปี ปีนี้เราได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมสืบสานเทศกาลกินเจ จังหวัดภูเก็ต ติดต่อกันเป็นปีที่ 9 เช่นเคย และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสฯ ทำให้กิจกรรมบางส่วนจึงลดลง และเราก็ร่วมสนับสนุนมาตรการของสาธารณสุข

“ถือศีลกินผัก” ถึงจะเก่า…แต่ก็เก๋า

ถ้าพูดถึงภูเก็ต … ทุกคนคงคิดถึงทะเลสีฟ้า ร้านอาหารและคาเฟ่น่ารักๆ มากมาย ทั้งที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือที่เพิ่งเปิดกิจการได้ไม่นาน ตึกรามบ้านช่องสไตล์ “ชิโนโปรตุกีส” เป็นเครื่องยืนยันชั้นดีว่าสมัยก่อนพื้นที่แถบนี้มีการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของตะวันตกและตะวันออก นอกจากภาพชินตาเหล่านี้ที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึง ความเป็นภูเก็ต แล้ว วัฒนธรรมและประเพณีของที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคุณค่าที่มองข้ามไม่ได้ “เทศกาลถือศีลกินผัก” หรือ “เจี๊ยะฉ่าย”(กินผัก) ก็เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต เพราะแสนสิริเชื่อว่า เมื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใด พื้นที่นั้นก็เปรียบเสมือนชุมชนของเรา ด้วยคตินี้เองที่ทำให้แสนสิริและธนาคารไทยพาณิชย์