สมัยก่อนอยู่ตัวคนเดียว ทำอะไรคนเดียว ยื่นภาษีก็ทำได้เพียงแบบเดียว
แต่ครั้นพอแต่งงานแล้ว มีคนอีกคนเข้ามาเป็นคู่ชีวิต มาแชร์สิ่งต่างๆ ในทุกๆ วัน
ซื้อบ้านหลังอบอุ่นด้วยกัน แม้แต่การยื่นภาษีก็มีทางเลือกมากขึ้นด้วยเช่นกัน
เดือนแห่งความรักเวียนมาถึงทั้งที แสนสิริเอาใจคนมีคู่(สมรส) ด้วยเรื่องราวที่คู่สมรสทุกคู่จะไม่รู้ไม่ได้! นั่นก็คือการยื่นภาษีในวันที่มีใครอีกคนหนึ่งก้าวเข้ามาเป็นอีกครึ่งชีวิตของคุณแล้วนั่นเอง ยิ่งในช่วงมกราคม – มีนาคมแบบนี้ ยังเป็นช่วงการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วยเช่นกัน
ว่าแต่จะ “ยื่นแยกกัน” หรือ “ยื่นร่วมกัน” ดีกว่า? จะวางแผนภาษีและการลดหย่อนอย่างไรให้คุ้มค่า? ถ้าซื้อบ้านเพื่อสร้างครอบครัวด้วยกัน ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีได้ด้วยใช่ไหมนะ? แต่ถ้ากู้ร่วมจะคำนวณภาษียังไงล่ะ? สามีภรรยาคู่ไหนที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว ต้องตามมาดูกันเลย
ยื่นภาษี “แยกกัน” vs “ร่วมกัน”
การจะยื่นภาษีเงินได้ของคู่สมรสแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเงิน รายได้ ความต้องการหรือเป้าหมายของคนทั้งคู่ ตลอดจนความสะดวกสบายของคู่สมรสแต่ละคู่เป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ดังนี้
สามีหรือภรรยามีเงินได้ฝ่ายเดียว
ในกรณีนี้ ฝ่ายผู้มีเงินได้ยื่นภาษีแบบแสดงรายการภาษีได้เลย โดยสามารถนำคู่สมรสที่จดทะเบียนกันมาหักลดหย่อนในการคำนวณอัตราภาษีได้ถึง 60,000 บาท
สามีภรรยาต่างก็มีเงินได้
ในลักษณะนี้สามารถยื่นแบบแสดงรายการได้ 3 แบบด้วยกัน โดยเลือกระหว่างต่างฝ่ายต่างแยกกันยื่น แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน หรือยื่นรวมกัน
1. ต่างฝ่ายต่างแยกยื่นแบบแสดงรายการ
การยื่นภาษีแบบนี้เหมาะกับคู่สมรสที่ต่างก็มีรายได้พอๆ กัน อัตราฐานภาษีใกล้เคียงกัน รวมทั้งมีค่าลดหย่อนต่างๆ ใกล้เคียงกัน เพราะต่างฝ่ายต่างจะเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม รวมทั้งยังเหมาะกับคู่สมรสที่ไม่สะดวกให้อีกฝ่ายมายุ่งเกี่ยวในการบริหารเงินของตนเองด้วยเช่นกัน
ในกรณีที่เงินได้มาจากการทำมาหาได้ร่วมกันและไม่สามารถแยกได้ว่าเงินได้เป็นของใครนั้น ให้แบ่งกันฝ่ายละ 50% (ยกเว้นเงินได้ประเภทที่ 8)
2. ต่างฝ่ายต่างแยกยื่นเฉพาะเงินเดือน
วิธีนี้คือการที่สามีภรรยาต่างนำเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) มาแยกยื่นต่างหาก ส่วนเงินได้อื่นๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน เงินปันผล ดอกเบี้ย หรือเงินได้ทางอื่น (เงินได้ประเภทที่ 2 – 8) ซึ่งเป็นส่วนที่หักลดหย่อนเพิ่มไม่ได้และยังทำให้ฐานภาษีสูงขึ้นนั้น ให้นำมายื่นรวมในนามอีกฝ่า
เรียกได้ว่าวิธีนี้เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเงินเดือนมากและยังมีรายได้จากทางอื่นอีก แต่ใช้สิทธิหักลดหย่อนในส่วนของเงินเดือนเต็มสิทธิแล้ว เพราะการนำเงินได้อื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือนไปรวมกับอีกฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่า พร้อมยังใช้สิทธิค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายยังไม่เต็มสิทธิของอีกฝ่าย ก็จะช่วยให้เสียภาษีได้คุ้มค่ามากกว่านั่นเอง
3. รวมยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันทั้งหมด
การยื่นภาษีในรูปแบบนี้เป็นการนำเงินได้ของคู่สมรสทั้งสามีและภรรยามารวมเข้าด้วยกัน แล้วให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ยื่นภาษี เหมาะกับคู่สมรสที่แต่ละฝ่ายมีรายได้ต่างกันมาก และฝ่ายที่มีรายได้ต่ำกว่าไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มสิทธิ เมื่อรวมรายได้เข้าด้วยกันแล้วให้ผู้มีรายได้มากเป็นผู้ยื่นภาษี จะสามารถรวมสิทธิค่าลดหย่อนต่างๆ ของฝ่ายที่มีรายได้ต่ำกว่าซึ่งยังใช้ไม่เต็มสิทธิไปให้กับฝ่ายคุ่สมรสที่มีรายได้สูงกว่าได้ประโยชน์ได้
คู่สมรสใช้สิทธิลดหย่อนอย่างไร?
สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนของคู่สมรสนั้น นอกจากจะนำคู่สมรสที่จดทะเบียนกันมาหักลดหย่อนได้ 60,000 บาทในกรณีแยกกันยื่นภาษี (รวมกันสูงสุดไม่เกิน 120,000 บาทในกรณีรวมกันยื่น) ยังสามารถนำส่วนอื่นๆ มาหักลดหย่อนได้ด้วยเช่นกัน เช่น
- บุตร คนละ 30,000 บาท หรือ 60,000 บาทสำหรับบุตรที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2561
- บิดามารดา คนละ 30,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิต คนละ 100,000 บาท (หากคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนเบี้ยประกันของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ ได้อีก 10,000 บาท)
นอกจากนี้คู่สมรสคู่ไหนที่มีการซื้อบ้านเพื่อสร้างครอบครัวในฝัน ยังสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านมาใช้สิทธิลดหย่อนได้ด้วยเช่นกัน โดยสามารถลดหย่อนได้สูงสุดปีละไม่เกิน 100,000 บาทต่อผู้มีเงินได้ 1 คน แต่การลดหย่อนจึงขึ้นอยู่กับลักษณะการกู้ เพราะค่าลดหย่อนจะเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้นั่นเอง
อีกทั้งสิทธิในการลดหย่อยจะอยู่กับผู้กู้ ดังนั้นในกรณีที่คู่สมรสมีผู้มีเงินได้ฝ่ายเดียว โดยฝ่ายที่ไม่มีเงินได้เป็นผู้กู้เป็นผู้เดียวนั้น จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ ส่วนในกรณีอื่นๆ สามารถใช้สิทธินำดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านมาลดหย่อนได้ดังนี้
กรณีต่างฝ่ายต่างยื่นภาษี
- กู้ร่วมกัน: ต้องแบ่งจำนวนเงินที่ได้ลดหย่อนเท่าๆ กัน แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท ส่วนในกรณีกู้ร่วมกัน แต่มีรายได้เพียงฝ่ายเดียว ก็สามารถสิทธิของฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ได้ด้วยเช่นกัน รวมสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- ต่างฝ่ายต่างกู้ (ไม่ว่าก่อนหรือหลังสมรส): ได้รับสิทธิการลดหย่อนภาษีแยกกันเป็นรายบุคคล นั่นคือลดหย่อนได้ตามจริงในส่วนของตนเอง แต่ไม่เกินฝ่ายละ 100,000 บาท
กรณีคู่สมรสยื่นภาษีร่วมกัน
- กู้ร่วมกัน: ต้องแบ่งจำนวนเงินที่ได้ลดหย่อนเท่าๆ กัน แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท และรวมกันสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- ต่างฝ่ายต่างกู้ (ไม่ว่าก่อนหรือหลังสมรส): ได้รับสิทธิการลดหย่อนภาษีแยกกันเป็นรายบุคคล นั่นคือลดหย่อนได้ตามจริงในส่วนของตนเองไม่เกิน 100,000 บาท และของคู่สมรสไม่เกิน 100,000 บาท รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท
เมื่อมีคู่ชีวิตเข้ามา รายละเอียดการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงและมีทางเลือกมากขึ้น แม้แต่การซื้อบ้านก็ยังมีความหมายไปไกลมากยิ่งกว่าถึงการได้ชีวิตร่วมกันกับคนที่รัก ได้สร้างครอบครัวที่อบอุ่นในที่แห่งนี้ด้วยกัน ตลอดจนยังใช้เป็นทางเลือกดีๆ ให้คู่สมรสแต่ละคู่ได้นำมาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายสำหรับการคำนวณภาษีด้วยเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากกรมสรรพากรและธนาคารไทยพาณิชย์