ความรักที่สวยงามและเบ่งบาน
คือ ความรักที่ได้รับการยอมรับอย่างไร้ข้อจำกัดทางเพศ
ความรักเป็นเรื่องที่พิเศษและมหัศจรรย์เสมอใช่ไหมล่ะค่ะ ความรักสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะความรักเป็นสิ่งที่งดงามเสมอ ความรักจึงไม่ควรมีกำแพงเรื่อง “เพศ” มาขวางกั้น ทุกคนรู้ไหมคะว่าการที่ LGBTQIA+ ถูกกีดกัน เลือกปฏิบัติ และไม่ถูกยอมรับจากครอบครัวและสังคมส่งผลต่อสภาพจิตใจของพวกเขาเป็นอย่างมาก บางคนอาจจะเกิดความเครียด กังวล คิดมาก ซึ่งคนที่สภาพจิตใจไม่แข็งแรงอาจจะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้เลยนะคะ
หากทุกคนทำความเข้าใจ ยอมรับและไม่เลือกปฏิบัติจากหัวใจอย่างแท้จริง กลุ่มคน LGBTQIA+ จะรู้สึกมีความสุขกับการใช้ชีวิต ยิ้มได้อย่างเต็มภาคภูมิ มีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกๆ คนในสังคม
ในสังคมปัจจุบันที่มีความหลากหลาย สังคมอาจจะกำหนดให้มีเพศหญิงกับเพศชายมาตั้งแต่กำเนิดแต่ในเรื่องของความชอบ ความรู้สึก หรืออัตลักษณ์ทางเพศ อาจจะมีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ อินเตอร์เซ็กส์ เอเซ็กชวล ฯลฯ ทำให้ความรักก็มีความหลากหลายเช่นกัน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความรักและการถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มคน LGBTQIA+ เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของพวกเขาอย่างมากเช่นกัน
วันนี้ Mental Life by Chanisara อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เข้าใจความรักของพวกเขาและยอมรับพวกเขาด้วยหัวใจที่แท้จริง รวมถึงอัปเดตสิทธิที่ทุกคนจะได้รับเมื่อกฎหมายการสมรสเท่าเทียมถูกบังคับใช้กันค่ะ
“Love Wins” ถ้าถูกยอมรับความรักจะชนะ
หากพูดถึงความรัก ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ถ้าให้พูดถึงความรักของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หลายคนก็อาจจะมองว่า เป็นเรื่องยากที่จะสมหวังและยากที่จะพบกับความรักที่แท้จริง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมไทยเปิดรับ กลุ่มคน LGBTQIA+ มากขึ้น พวกเขาเปิดเผยตัวตนกันมากขึ้น เป็นตัวเองกันมากขึ้น คนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ต้องปิดบังตัวตนเหมือนในอดีต ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศกล้าที่จะแสดงความรักต่อกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น แต่ถ้าหากครอบครัวหรือสังคมที่พวกเขาอยู่ไม่ยอมรับ ความรักของพวกเขาก็อาจจะเป็นเรื่องยากและส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของพวกเขาได้เช่นกัน
เมื่อการถูกกีดกันส่งผลต่อจิตใจของ LGBTQIA+
เมื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ถูกยอมรับ ถูกเลือกปฎิบัติ ถูกปฏิเสธจากคนในครอบครัว หรือถูกตีตราจากทางสังคม ทำให้กลุ่มคน LGBTQIA+ มีปัญหาทางสุขภาพจิตมากกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้พวกเขามีภาวะความเครียดสูง หรือบางคนอาจจะมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย มีการวิจัยพบว่าผู้ชายที่มีความหลากหลายทางเพศมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในความคิดของเรามองว่า อาจจะเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความคาดหวังจากสังคมและวัฒนธรรม ในบ้านเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้ชายมักจะถูกคาดหวังจากสังคมมากกว่าเพศหญิง การถูกเลือกปฏิบัติ การไม่ถูกยอมรับจากครอบครัว การถูกบูลลี่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขาเป็นอย่างมาก
ถึงแม้ในปัจจุบันสังคมไทยจะเปิดกว้างและยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีคนที่ยังไม่เข้าใจและยังเลือกปฎิบัติอยู่ รวมถึงการที่ LGBTQIA+ ไม่ถูกยอมรับจากครอบครัวหรือสังคมที่เขาอาศัยอยู่ มีส่วนทำให้ความรักของพวกเขาอาจเป็นไปได้ยาก แต่หากครอบครัวและสังคมเปิดใจยอมรับพวกเขาจะทำให้ LGBTQIA+ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และความรักของพวกเขาจะไม่ถูกจำกัดอีกต่อไป ซึ่งเราเชื่อว่าสุขภาพจิตของพวกเขา จะดีขึ้นได้อย่างแน่นอนค่ะ
การต่อสู้เพื่อการถูกยอมรับของ LGBTQIA+
ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ต่อสู้ เรียกร้องและพยายามแสดงออกเพื่อให้ทุกคนยอมรับ รวมถึงเรื่องความรักของพวกเขาด้วย ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามและไม่ควรมีใครมาตัดสินความรักของพวกเขา หากความรักของ LGBTQIA+ ถูกยอมรับด้วยความเต็มใจและไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกและแตกต่าง นั้นคือ “ความเท่าเทียม” ที่พวกเขาต้องการ หลายๆ คนจึงพยายามที่จะต่อสู้ให้เกิดการยอมรับในครอบครัวและสังคม รวมถึงเรียกร้องสิทธิ์ทางกฏหมายให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในสังคมยังมั่นคงและเท่าเทียมกับทุกๆ คน โดยไม่ถูกแบ่งแยกและกีดกัน เลือกปฏิบัติ และได้ถูกเติมเต็มทางความรู้สึกทำให้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขนั่นเองค่ะ
เมื่อความรักต้องมาพร้อมกับกฎหมาย
ย้อนกลับไปกว่าหลายทศวรรษที่พวกเขาพยายามต่อสู้และเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเองรวมถึงคนอื่นๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศเช่นเดียวกัน ถึงแม้ในวันนี้สังคมไทยจะเปิดรับพวกเขามากยิ่งขึ้น แต่พวกเขายังรอวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านและถูกบังคับใช้อย่างแท้จริงเมื่อถึงวันนั้น การต่อสู้ก้าวข้ามผ่านสะพานสายรุ้งจะถึงปลายทางแห่งความสำเร็จ ดั่งที่กลุ่มคน LGBTQIA+ หวังและจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกับทุกคนในสังคมอย่างแท้จริงค่ะ
เนเธอร์แลนด์ประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วโลก
เราเล่าถึงเรื่องความรัก ปัญหาทางสุขภาพจิต และสิทธิที่พึ่งจะได้รับของ LGBTQIA+ ในประเทศไทยไปแล้ว เราจะเล่าถึงความรักและสิทธิทางกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์กันบ้าง ซึ่งเนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ยอมให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คู่รัก LGBTQIA+ คู่แรก นั่นคือ คุณเกิร์ท คาสตีล และคุณดอล์ฟ ปาสเกอร์ ซึ่งการแต่งงานของพวกเขาทำให้เห็นว่า การใช้ชีวิตคู่ที่ถูกยอมรับทั้งจากสังคมและกฎหมายเป็นสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงความเท่าเทียมอย่างแท้จริง และยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน
ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีหลายๆ ประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมตามมาใน เร็วๆ นี้ค่ะ
วิธีการ support จิตใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
1. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
2. เคารพสิทธิ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
3.รับฟังผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยความเห็นอกเห็นใจ
4. สนับสนุนพวกเขาและเข้าใจความหลากหลายทางเพศยังแท้จริง
5. ปฏิบัติกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียมกับทุกๆ คนในสังคม
6. การทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงการบริการสุขภาพ
เมื่อรักเท่าเทียมอย่างแท้จริง
และแล้ววันที่เหล่า LGBTQIA+ รอคอยก็มาถึง วันที่สะพานสายรุ้ง เดินทางมาถึงปลายทางแห่งความสำเร็จ หลังจากวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ได้มีการประกาศออกมา 120 วัน นั่นหมายความว่า กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย ในวันที่ 8 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่ถูกใจใครหลายๆ คนแน่นอนค่ะ
นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เพราะ ถือว่าสังคมไทยได้ยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว พวกเขาจะได้รับสิทธิในการใช้ชีวิตคู่ตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม เราเชื่อว่าหลายคนจะรู้สึกดีใจและภูมิใจที่วันนี้ ประเทศไทยได้ก้าวผ่านกำแพงเรื่องเพศได้อย่างแท้จริง เพราะเราเชื่อเสมอว่า ความรักไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอ วันนี้ความรักของทุกคนจะผลิบานอย่างสวยงามและเรายังเชื่ออีกว่าทุกคนจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างเต็มภาคภูมิค่ะ
สิทธิที่ทุกคนต้องได้รับ หลังสมรสเท่าเทียมบังคับใช้
1. ทุกคนสามารถหมั้นและสมรสกันได้เมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์ หากจะจดทะเบียนสมรสกัน จะต้องได้รับการยินยอมจากทั้งสองฝ่าย หากจะสมรสก่อนอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ต้องได้รับคำสั่งจากศาลก่อน (แล้วแต่กรณี)
2. หากจะหมั้นและสมรสก่อนอายุ 20 ต้องได้รับการยินยอมจากพ่อแม่
3. สิทธิในการใช้นามสกุลของอีกฝ่าย
4. การหย่าจะต้องได้รับการยินยอมทั้งสองฝ่าย
5. สิทธิการรับมรดก
6. การยินยอมสิทธิในการรักษาพยาบาล
7. สิทธิในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสคนใดคนหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
8. สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ หากจดทะเบียนสมรสแล้ว
9. สิทธิในการได้รับค่าเลี้ยงดู
10.สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม
11. สิทธิประโยชน์ในภาษี
12. สิทธิในการสมรสกับชาวต่างชาติ แต่คู่สมรสยังไม่สามารถขอสัญชาติได้
ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ดังนั้นทุกคนควรมีสิทธิที่จะรักอย่างเท่าเทียม จึงไม่ควรมีกำแพงเรื่อง “เพศ”
มาเป็นข้อจำกัด จะทำให้คนในสังคมจะมีความสุขและมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงค่ะ
Source
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2062396
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9893184/#CR118
https://therapygroupdc.com/therapist-dc-blog/tips-to-support-lgbtq-mental-health/
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/gender-identity/