“แสนสิริ” เดินหน้า
ZERO DROPOUT
ชูโมเดลการศึกษา
1 โรงเรียน 3 รูปแบบ
“เด็กทุกคนต้องได้เรียน”
พัฒนาทุนมนุษย์เคลื่อนเศรษฐกิจ

“แสนสิริหวังว่าโครงการ ZERO DROPOUT เด็กทุกคนต้องได้เรียน นำร่องที่จังหวัดราชบุรี จะจุดประกายให้เห็นกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ขยายผลนำไปใช้ทั่วประเทศ”

เพราะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ ดังนั้นการสร้าง “ความเสมอภาคทางการศึกษา” ทำให้เด็กไม่หลุดจากระบบการศึกษา เติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วม โดยบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แถวหน้าของไทย ได้ผลักดันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการสนับสนุนโครงการ ZERO DROPOUT เด็กทุกคนต้องได้เรียน ซึ่งเป็นแผนระยะยาว (เริ่มตั้งแต่ปี 2565) นำร่องที่จังหวัดราชบุรี โดยหวังให้เป็น “โมเดลต้นแบบ” ในการสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาจากระดับจังหวัด ขยายผลสู่ระดับประเทศ บนเป้าหมายช่วยเด็กหลุดจากการศึกษาเป็น“ศูนย์” ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และสมัชชาการศึกษาราชบุรี โดยแสนสิริเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 100 ล้านบาท ผ่านนวัตกรรมทางการเงิน “ออกหุ้นกู้เพื่อลงทุนทางการศึกษา” ของภาคเอกชนรายแรกในไทย

ล่าสุดในปีนี้ ได้เกิดผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัด คือการผลักดันรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ด้วย “โมเดลการศึกษา 1 โรงเรียน  3  รูปแบบ” ในจังหวัดราชบุรี ได้แก่ รูปแบบการเรียนในระบบ, นอกระบบ และการเรียนตามอัธยาศัย ซึ่งเริ่มต้นแล้วใน 12 โรงเรียน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อเป็นตัวเลือกทางการศึกษาให้กับเด็ก แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จากอุปสรรคต่างๆ อาทิ ความยากจน ความบกพร่องทางร่างกาย ความเจ็บป่วย และปัญหาทางสังคมอื่นๆ

ล่าสุด ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เส้นทาง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” ครั้งที่ 2 ที่จัดโดย กสศ.

“สมัชชา พรหมศิริ” Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบทบาทภาคเอกชนในการสนับสนุนการศึกษาที่ยืดหยุ่น เด็กทุกคนต้องได้เรียนว่า ถือเป็นบทบาทของทุกภาคส่วนรวมถึงภาคเอกชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาวะที่ดี และมีความรู้ที่ดีเพียงพอ   

ภาคเอกชนเป็นภาคหนึ่งที่จะต้องเข้ามาช่วยเรื่องการศึกษา อย่ามองว่าการศึกษาไม่ใช่เรื่องของภาคธุรกิจเพราะสุดท้าย ทรัพยากรมนุษย์ที่เข้ามาทำงานในภาคเอกชนล้วนช่วยมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจและธุรกิจ โดยโครงการนำร่องที่จังหวัดราชบุรี ที่แสนสิริเข้าไปสนับสนุนทางการเงิน เราหวังจะจุดประกายให้ทุกภาคส่วนเห็นกลไกแก้ไขปัญหา เป็นอีกนวัตกรรมทางการศึกษาที่ถูกถอดบทเรียน และขยายผลไปทั่วประเทศ”

Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยังเห็นว่าการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ยั่งยืน คือ การจัดระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลาย สามารถเชื่อมโลกการทำงานกับการเรียนรู้ไปด้วยกัน และตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของภาคเอกชน

ขณะเดียวกันเรื่องความเสมอภาคในด้านต่างๆ ไม่เฉพาะด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน เช่น ด้านแรงงาน เชื้อชาติ ความหลากหลายทางเพศฯ เป็นเรื่องที่แสนสิริให้ความสำคัญ เพราะมองว่า สังคมที่มีความเสมอภาค จะลดความเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้ง ลดปัญหาสังคม นำไปสู่ความสุข และความยั่งยืนในที่สุด

“สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงทิศทางและนโยบายการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นว่า กระทรวงศึกษาธิการ ยึดนโยบาย เรียนดี มีความสุข และเด็กทุกคนมีโอกาสได้เรียน ภายใต้การเรียนเพื่อความเป็นเลิศ และการเรียนเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต จึงสอดคล้องกับโครงการ ZERO DROPOUT เด็กทุกคนต้องได้เรียน ที่แสวงหาโมเดลการศึกษาเพื่อ “ลดความเสี่ยง” เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

“ที่ผ่านมาเด็กจำนวนหนึ่งต้องหลุดจากระบบการเรียน เพราะติดปัญหา อาทิ ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน มีปัญหาความยากจน ท้องในวัยเรียน ฯลฯ จึงต้องมีรูปแบบการศึกษาใหม่ ให้เด็กที่เข้าข่ายเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องมาโรงเรียนทุกวัน แต่สามารถจบการศึกษาได้ ด้วยต้องกำหนดตัวชี้วัดใหม่ พัฒนาสู่การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยสามารถนำมาเทียบโอนหน่วยกิต จบการศึกษาได้เช่นกัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษากำลังเดินหน้าเรื่อง ธนาคารหน่วยกิต เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ด้าน “ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ” กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การปลุกพลังและเปิดมุมมองสร้างโอกาสการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเป็นไปได้เพื่อเด็กทุกคน เมื่อรับฟังนโยบายด้านการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ทำให้เห็นความเป็นไปได้ในแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศประเมินว่ามีเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนกว่า 1 ล้านคน

ทั้งนี้เห็นว่าการเรียนในรูปแบบใหม่ต้องยืดหยุ่นมองทะลุจาก “ห้องเรียน” ไปสู่ภายนอก มีห้องเรียนที่แยกออกไปจากห้องเรียนปกติให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตเด็ก เพื่อประคับประคองให้จบการศึกษา อย่างไรก็ตามการดำเนินการจะต้องกำหนดรูปแบบการศึกษาให้เด็กที่จบการศึกษาโดยไม่หย่อนคุณภาพ

“รูปแบบการศึกษา ต้องยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง กล้าคิดนอกกรอบ และมีกฎหมายรองรับที่ถูกต้อง ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ก็เปิดทางให้ดำเนินการได้ ในมาตรา 15 ที่กำหนดให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาในระบบหรือนอกระบบได้ตามอัธยาศัย ขณะที่ พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ 2566 ในมาตรา 6 และมาตรา 15 ระบุถึง การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ โดยเห็นว่าหากสามารถแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบได้ จะถือเป็นการตัดวงจรความยากจน และยุวอาชญากร แก้ปัญหาสังคมได้” ดร.สมพงษ์ กล่าว

“ชัยศักดิ์ ภูมูล” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกองม่องทะ จังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ กล่าวถึงโมเดลการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบว่า  ถือเป็นรูปแบบการศึกษาที่ทันสมัย สอดคล้อง เหมาะกับการจัดการศึกษาให้กับเด็ก ทั้งในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีเด็กเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือแม้แต่โรงเรียนในเมือง โดยหลักสูตรนี้จะเป็นการรักษาไว้ซึ่ง “โอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ให้กับเด็ก

“ส่วนตัวเคยใช้รูปแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบมาแล้วระดับหนึ่ง พบว่า สามารถป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้ เช่น เด็กที่ท้องในวัยเรียน เด็กที่มีภารกิจต้องดูแลผู้ปกครอง ไม่สามารถปลีกตัวมาเรียนได้เต็มเวลา หรือเด็กที่ประสบอุบัติเหตุต้องใช้เวลาฟื้นฟูกายภาพ โดยหลักสูตรนี้สามารถรองรับโอกาสทางการศึกษาของเด็กไว้ได้”

ชัยศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า อยากเห็นการพัฒนาการศึกษา ให้การศึกษาไม่แข็งตัวจนเกินไป ยืดหยุ่นรองรับทุกบริบทปัญหาของเด็ก ทั้งในเชิงป้องกัน แก้ไข และเป็นทางเลือกการศึกษาให้เด็กสามารถเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ขณะเดียวกันต้องมีความเข้มแข็งในเรื่องของหลักสูตร มีความเข้มแข็งในเรื่องของสถานศึกษา และมีความเข้มแข็งในเรื่องของภาคีเครือข่ายการจัดการศึกษาไปพร้อมกัน

และทั้งหมดนี้ คือรูปธรรม และมุมมองที่สอดคล้องกันในการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สะท้อนให้เห็นถึง “ความร่วมมือ” ทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการของรัฐ และความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อผลักดันเป้าหมายช่วยให้เด็กหลุดจากการศึกษาเป็น ศูนย์” (ZERO DROPOUT) ทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา เพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมไปกับการแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน

Related Articles

sansiri logo, โลโก้แสนสิริ

รู้กันหรือยัง? แสนสิริเปลี่ยน Logo แล้วนะ

แสนสิริเปลี่ยนไป!? มีอะไรที่แสนสิริเปลี่ยนไปกันนะ หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตหรือยังไม่เห็นบางอย่างของเราที่เปลี่ยนไป วันนี้แสนสิริขอพาทุกคนไปตามดูกันว่า อะไรกันนะ ที่เปลี่ยนไป ถ้าพร้อมแล้วก็เลสต์โก! อันดับแรก ลองเสิร์ชก่อน อะไรกันนะของแสนสิริที่เปลี่ยนไป ถ้านึกไม่ออก ลองถามเฮียคนนี้ดีกว่า อยากรู้อะไรก็ต้องถามเฮียเค้าคนนี้ “อากู๋”! เริ่มจะเอ๊ะ เริ่มเห็นความแตกต่าง หลังจากเสิร์ชถามอากู๋แล้ว ก็กดค้นหาเลย หลายๆ คนคงมีคำถามว่า

ZERO DROPOUT เด็กทุกคนต้องได้เรียน

ZERO DROPOUT เพราะการศึกษาที่มีคุณภาพ คือสะพานสู่ความฝัน

ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีมีนักเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับจำนวน 127,266 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนยากจนพิเศษ อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาท ต่อคนต่อเดือน 3,258 คน คิดเป็น 2.56 % สาเหตุดังกล่าวทำให้ครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องในการไปโรงเรียนได้ จึงทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา คือมีเด็กที่หลุดระบบการศึกษาและเสี่ยงหลุดระบบการศึกษาเกิดขึ้น โจทย์ดังกล่าวทำให้แสนสิริ องค์กรในภาคเอกชนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมเด็กและเยาวชน ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ZERO DROPOUT เด็กทุกคนต้องได้เรียน-แสนสิริ-นักเรียนไทย-นักเรียน

สร้างโอกาสให้น้องเรียนรู้ “วิชาชีพ วิชาชีวิต” ใน Zero Dropout

หากคุณเป็นแฟนคลับ ที่ติดตามแสนสิริเป็นประจำเสมอ น่าจะยังคงจำกันได้ดีกับโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ภารกิจที่เรามุ่งมั่นให้เด็กไทยมีโอกาสได้เรียนและกลับคืนสู่ระบบการศึกษา โดยเริ่มต้นที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นโมเดล และจากที่เราได้ลงไปสัมผัสโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าในหลายโรงเรียนมีทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมด้านอาชีพให้กับนักเรียนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่นั้นเป็นส่วนที่ติดกับชายแดนเมียนมาร์ จึงเป็นเหตุให้มีเด็กชาติพันธุ์มากมาย ประกอบกับครอบครัวมีฐานะยากจน ส่งผลให้เด็กบางคนไม่สามารถเรียนจบในการศึกษาภาคบังคับได้ เพราะต้องช่วยพ่อแม่รับจ้างเพื่อหาเงินมายังชีพในครอบครัว หนึ่งในกิจกรรมย่อยที่ช่วยเติมเต็มในโครงการ