หากคุณเป็นแฟนคลับ ที่ติดตามแสนสิริเป็นประจำเสมอ
น่าจะยังคงจำกันได้ดีกับโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”
ภารกิจที่เรามุ่งมั่นให้เด็กไทยมีโอกาสได้เรียนและกลับคืนสู่ระบบการศึกษา โดยเริ่มต้นที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นโมเดล
และจากที่เราได้ลงไปสัมผัสโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าในหลายโรงเรียนมีทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมด้านอาชีพให้กับนักเรียนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่นั้นเป็นส่วนที่ติดกับชายแดนเมียนมาร์ จึงเป็นเหตุให้มีเด็กชาติพันธุ์มากมาย ประกอบกับครอบครัวมีฐานะยากจน ส่งผลให้เด็กบางคนไม่สามารถเรียนจบในการศึกษาภาคบังคับได้ เพราะต้องช่วยพ่อแม่รับจ้างเพื่อหาเงินมายังชีพในครอบครัว
หนึ่งในกิจกรรมย่อยที่ช่วยเติมเต็มในโครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน คือส่งเสริมประสบการณ์ทักษะอาชีพให้กับเด็กนักเรียน ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่แสนสิริได้สนับสนุนพื้นที่ในการออกร้านขายอาหารในงานคอนเสิร์ต Season of Love Song ที่ เวเนโต้ สวนผึ้ง จำนวน 10 ร้าน ให้กับเด็กนักเรียนใน 10 โรงเรียน
“มีขนม มีน้ำ มีข้าวไข่เจียว ลูกชิ้น พี่ๆ มาช่วยอุดหนุนพวกหนูด้วยนะคะ”
เสียงแจ้วๆ ตะโกนแข่งกับเสียงดนตรีในเทศกาลงาน ของเหล่าเด็กๆ ที่เชิญชวนเรียกลูกค้า ให้อดใจไม่ไหวที่จะต้องเข้าไปช่วยอุดหนุนร้านค้าและอาหาร ที่น้องๆ เตรียมมาอย่างแข็งขันมากมาย ทั้ง ขนม น้ำ ข้าวไข่เจียว ข้าวราดกระเพรา ลูกชิ้นทอด น้ำสมุนไพรแก้กระหาย หรือขนมตะโก้ ขนมวุ้นมะพร้าว
แม้ท่าทางในตอนแรกๆ ของเด็กจะมีความเคอะเขินบ้าง แต่รู้สึกได้ถึงความตั้งใจหยิบจับอาหารและใส่ถุงเพื่อยื่นให้กับลูกค้า แลกกับเงินหรือรายได้ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น ประสบการณ์เหล่านี้ถือเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การคิดคำนวนต้นทุน กำไร ขาดทุน ทักษะต่างๆ เหล่านี้จะทำให้นักเรียนสนุก เกิดการจดจำได้ดีกว่าการเรียนในตำรา
นอกจากเด็กๆ ได้รับประสบการณ์จากการขายในวันนั้นแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายจะเป็นเงินออมให้กับนักเรียนเพื่อซื้ออุปกรณ์การเรียนของพวกเขาในอนาคตต่อไป…
ถึงตอนนี้ หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ แต่เราอยากบอกเล่าถึงเป้าหมายของโครงการอีกครั้งว่า โครงการ “Zero Dropout: เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ไม่ได้เพียงแค่อยากมอบอาหารกลางวันให้เด็กๆ เท่านั้น แต่เรามีเป้าหมายที่จะทำให้เด็กทุกคนได้เรียน 100% และทำให้จำนวนเด็กที่หลุดจากการศึกษาเป็น “ศูนย์” ให้ได้
แสนสิริได้ร่วมกับ กสศ. ระดมทุนกว่า 100 ล้านบาทจากหุ้นกู้ และนำไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่การสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายของนักเรียน สนับสนุนครูและโรงเรียน ไปจนถึงการมีส่วนสนับสนุนในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษา
โครงการ Zero Dropout เริ่มต้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งจุดเริ่มต้นนี้จะกลายเป็นโมเดลที่มีประสิทธิภาพ และถูกขยายไปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป