เรื่องเล่าจากเลบานอน โดย Social Change Ambassador

เมื่อได้ยินถึงคำว่า “ศูนย์พักพิงชั่วคราว” หลายคนคงจินตนาการภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาต่างกันออกไป ตามภาพข่าวที่พบเห็นตามสื่อต่างๆ น้อยคนนักที่จะได้ไปร่วมสัมผัสประสบการณ์ตรงถึงสถานที่จริง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง UNICEF ได้เปิดพื้นที่ให้แสนสิริ พร้อมกับแขกคนพิเศษของแสนสิริสองท่าน คือคุณมะนาว-ศรศิลป์ มณีวรรณ์ และคุณพิตต้า ณ พัทลุง ผู้ซึ่งสนใจในด้านการช่วยเหลือและพัฒนาเด็กมาโดยตลอด ได้ไปเยี่ยมเด็กๆ ชาวซีเรียในศูนย์พักพิงชั่วคราว รวมถึงระบบการให้ความช่วยเหลือเด็กของทาง UNICEF ในประเทศเลบานอนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านแสนสิริ บล็อก ในครั้งนี้

คุณมะนาว-ศรศิลป์ มณีวรรณ์

“ก่อนที่จะไปร่วมทริปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ประเทศเลบานอนนี้ มะนาวต้องบอกก่อนเลยว่า เรามีภาพในหัวเราไว้อยู่พอสมควรว่าความเป็นอยู่เค้าน่าจะไม่สะดวกสบายเท่าไร พอไปถึงจริง สื่งที่เห็นก็คอนเฟิร์มว่าสิ่งที่เราจินตนาการไว้มันไม่ผิด ที่ๆ เค้าพักกันนั้น ทางรัฐบาลเลบานอนเค้าจัดไว้ แบบ Informal Settlement จัดให้แบบไม่ถาวร ที่พักจึงเป็นกล่องๆ ต่อครอบครัว พอกันฝนได้ แต่กันลมและความหนาวได้น้อยมาก แต่ปัญหาเรื่องที่พักดูจะเล็กน้อยไปเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่ทางเจ้าหน้าที่แชร์ให้เราฟังเรื่องการขาดแคลนน้ำ เพราะจากข้อมูลที่ได้รับมากกว่า 70% ของแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นปนเปื้อนแบคทีเรียและใช้ดื่มไม่ได้ แต่ด้วยเจตนาที่จะให้เป็นที่พักชั่วคราว การสร้างระบบน้ำสะอาดแบบส่งผ่านท่อจึงถือเป็นการลงทุนที่อาจจะทำให้ค่ายพักพิงนี้กลายสภาพเป็นค่ายถาวรไป การจัดหาน้ำจึงทำได้ผ่านทางรถบรรทุกเท่านั้น ซึ่งขนส่งได้ลำบากกว่าและแพงกว่า

ถึงแม้ UNICEF จะมีการระดมทุนเพื่อหางบประมาณเข้ามาจัดการให้ความช่วยเหลือ แต่งบประมาณของ UNICEF สำหรับเรื่องน้ำนั้นหมดไปแล้วในบางพื้นที่ ตรงนี้มะนาว แสนสิริและทีมที่ร่วมทริปด้วยกันก็มองว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าเรามาช่วยกันส่งความช่วยเหลือผ่านการบริจาคให้ UNICEF เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของพื้นที่ที่ขาดแคลนนั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่จากที่มะนาวเล่ามาทั้งหมด แม้ความเป็นอยู่ของพวกเขาจะไม่ได้สุขสบายเหมือนตอนที่เขาเคยอยู่ที่บ้านตัวเองก่อนเกิดสงคราม แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดูสิ้นหวังกับชีวิต แม้สภาพความเป็นอยู่จะยากลำบาก ทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น และอยากจะไปสู่ที่ที่ดีกว่านี้ บางครอบครัวแค่อยากมีงานทำ หารายได้ ไม่อยู่เฉยๆ บางครอบครัวก็มุ่งมั่นสนับสนุนลูกด้านการเรียนเพื่ออนาคตที่เปิดกว้าง เมื่อได้พูดคุยกับเด็กๆ เหล่าแล้วเรารู้สึกได้รับพลังที่เปี่ยมไปด้วย Passion to Live จากพวกเขา เวลาพวกเขาเล่าถึงความฝันที่เรียนเพื่ออยากจะเป็นโน่นเป็นนี่ในอนาคต ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากมีส่วนที่ทำอะไรก็ได้ให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น แม้เราจะเป็นเพียงพลังขับเคลื่อนเล็กๆ ในโลกใบนี้ก็ตาม แต่อย่างน้อยหลายๆ พลังเล็กๆ รวมกันก็อาจจะช่วยซัพพอร์ทความต้องการพื้นฐานอย่างน้ำสะอาด และเติมเต็มความฝันของพวกเขาได้ซักวัน”

อันที่จริงแล้วปัญหาการขาดแคลนน้ำไม่ได้เป็นปัญหาเดียวที่เด็กๆในค่ายผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ หากแต่เด็กๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยนั้นยังต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาและอนาคตของพวกเขาอยู่อีก ซึ่งคุณพิตต้าได้มาร่วมแชร์มุมมองของเธอต่อปัญหานี้

คุณพิตต้า ณ พัทลุง

“ความประทับใจที่พิตต้าได้จากการไปร่วมทริปครั้งนี้นั้นมีหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ประทับใจมากๆ จริงๆ คือเรื่องของการที่ UNICEF และรัฐบาลเลบานอนได้ร่วมมือกันวางแนวทางการให้การศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ลี้ภัยแบบเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของชาวเลบานอนเอง ไม่สร้างความแตกต่างแปลกแยก อย่างเรื่องการศึกษานั้น ผู้ลี้ภัยจะได้เรียนโรงเรียนที่เรียกว่า Second Shift School คือคล้ายๆ กับการเรียนภาคค่ำ แชร์สถานที่เรียน และอุปกรณ์ต่างๆ กับโรงเรียนของชาวเลบานอนเองเลย แค่สลับเวลากันเรียน เด็กๆ ผู้ลี้ภัยเองก็เต็มที่กับโอกาสที่ตัวเองได้รับ แม้เค้าต้องปรับตัวกับภาษาที่เปลี่ยนไป แต่กลายเป็นว่าเพราะความตั้งใจและการไม่ค่อยมีสิ่งล่อใจต่างๆ อย่างโทรทัศน์ หรือ iPad ทำให้พวกเขาเรียนได้ดีกว่า การศึกษานี้เองก็ยังเปิดโอกาสเด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะแสดงความคิด ความเห็น มีทักษะสังคม และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และความนับถือตนเอง ให้กล้าพูดกล้าทำในสิ่งที่เหมาะสม แม้ชีวิตความเป็นอยู่อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่สำหรับการศึกษาเค้าได้มากขึ้น

นอกจากเรื่องโรงเรียนแล้ว ที่เลบานอนยังมี Sports Center ที่ให้ทาง UNICEF ให้เด็กๆ ทั้งผู้ลี้ภัยและ ชาวเลบานอนเข้ามาเรียนรู้เรื่องทักษะชีวิต, ทักษะความเป็นผู้นำ, และเรื่องสังคมพื้นฐานต่างๆ ให้เด็กๆ ได้ เรียนรู้นอกห้องเรียน การเอากีฬามาเชื่อมโยงทำให้เกิดความไว้ใจในกลุ่ม มันเกิด connection มันเกิดความรู้สึกที่เท่าเทียมกัน แบ่งปันปัญหา และจัดการร่วมกันได้อย่างถูกจุดด้วยความร่วมมือกันของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

แต่ปัญหาหนึ่งที่ทางเจ้าหน้าที่แชร์ให้ฟังคือโรงเรียนขั้นพื้นฐานมีถึงแค่เกรด 9 ซึ่งผู้ลี้ภัยเองไม่มีเอกสารราชการใดๆ รับรอง การจะเรียนต่อหรือเข้าทำงานดีๆ นั้นก็ทำได้ยาก การพัฒนาขั้นต่อไปที่ทำได้ตอนนี้จึงต้องฉีกแนวไปทางการสร้าง Entrepreneur อย่างที่ Youth Development เรื่อง design thinking ซึ่งเป็นแนว digital media, literacy, website design, social media มี work class ทาง mobile app ได้ไปเจอน้องคนนึงวาดรูปการ์ตูนแล้วเราก็ช่วยเขา tag ลง Instagram แล้วเขายังถามว่าเรามี connection อะไรที่จะช่วยพาการ์ตูนของเค้าไปได้ไกลกว่านี้รึเปล่า ซึ่งพิตต้าชอบความตั้งใจในการมองหาโอกาสของเขามากๆ จนทำให้เรารู้สึกอยากช่วยเหลือเขาได้มากกว่านี้

ทีมเราที่ไปด้วยกันเลยคุยกันว่ามันเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง Identity ทำอย่างไรให้ เด็กๆ เหล่านี้ได้มีเอกสารทางกฎหมายต่างๆ ที่จะเปิดทางให้เขาไปสู่เส้นทางอาชีพ หรือการวางแผนอนาคตที่ยั่งยืนได้มากกว่านี้ อาจจะเป็นด้านการศึกษา เชื้อชาติ หรืออะไรก็ตามที่จะช่วยให้พวกเขาได้ “Find Their Way Out” ไปจากจุดนี้ เราควรส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาเด็กๆ เหล่านี้ให้พวกเขาได้ไปให้สุดในรอบด้าน เห็นคุณค่าความเป็นตัวเอง และพร้อมที่ร่วมมือกับสังคมเพื่อทำชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น เมื่อพวกเขามีโอกาสสู่อนาคตที่ดี ในวันนึงเขาเองก็จะมีโอกาสเติมเต็มคนอื่นๆ ที่ยังขาดแคลนอย่างที่เขาได้รับจากพวกเราในวันนี้เหมือนกัน”

“เพราะเด็กคืออนาคต” แสนสิริเชื่อว่าเด็กทุกคนควรได้รับโอกาสพื้นฐานชีวิต และการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหยิบยื่นอนาคตที่ดีให้กับเด็กๆผู้ลี้ภัยเหล่านี้กับ UNICEF (United Nations Children’s Fund) หรือองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ผ่านช่องทาง https://uni.cf/2IRtoXC

#SansiriUnicef #Sansiri #ChildrenofSyria #RefugeeLebanon

Related Articles

10 ปีของการเดินทางเพื่อรากฐานที่ยั่งยืนของเด็กๆ ทุกคน

สิทธิและชีวิตที่ดีของเด็กๆ ทุกคน…คืออีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจมองข้าม…คืออีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่เช่นเราควรปกป้อง ดูแล ผลักดัน และสนับสนุน…คืออีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องสร้างและเติมเต็ม เพื่อให้ทุกๆ ชีวิตเหล่านั้นได้เติบโตอย่างมั่นคง สมบูรณ์ และยั่งยืน ในประเทศไทย ตลอดชีวิตของเรานั้นมีหลายครั้งที่เคยได้เห็นอีกชีวิตเล็กๆ ที่ไม่มีโอกาสเติบโตอย่างมั่นคงหรือแม้แต่ใช้ชีวิตได้อย่างไร้กังวล เราได้เห็นเด็กๆ ตัวน้อยถูกใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม เราได้เห็นโรคขาดสารไอโอดีนในเด็ก (Iodine Deficiency Disorder หรือ IDD)

sansiri

“Sansiri Social Change การรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน สู่ความช่วยเหลือแบบไร้พรมแดน”

เพราะแสนสิริรู้ว่าเด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ แสนสิริจึงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน อย่างองค์การยูนิเซฟประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิในด้านต่างๆ และมีชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน

why sansiri academy

แสนสิริ อะคาเดมี่ จุดเริ่มต้นแห่งความฝัน

ทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดเริ่มต้น เช่นเดียวกับการที่น้องเตสตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ แสนสิริ อะคาเดมี พื้นที่ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งหายจากการไม่สบาย เจอมิตรภาพที่ดี และได้ใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์