คำชั้น (ฉัน) สูง:
คำนี้ยังจำเป็นอยู่ไหม
ลองปรับ-เพื่อเปลี่ยน-ให้เท่าเทียม

“บิ๊ก A บินประชุมด่วน ถกต่างชาติเรื่องน้ำมันแพง”
“ส่องคลังรถหรู ไฮโซ B นักธุรกิจพันล้าน”
“ดารา C เตรียมสละโสด แต่งงาน ‘สาวหล่อ’ แฟนทอมนอกวงการ”

อ่านเผินๆ ก็ดูเป็นประโยคที่ปกติดี แต่เคยรู้สึกเอ๊ะกันมั้ย ทำไมต้องใช้คำแบบนี้ด้วยนะ? เพราะคำเสริมที่คอยบอกยศบอกเพศเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติที่เรามักจะเห็นในข่าว ในสื่อออนไลน์ หรือในคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ เราจึงอาจจะมองข้ามผลกระทบที่แฝงมากับคำเหล่านี้ได้ หรือบางครั้งอาจจจะเผลอไปสร้างการแบ่งแยก หรือส่งต่ออคติโดยไม่รู้ตัว

แต่แค่คำไม่กี่คำ ทำไมถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ไปได้? คงต้องมองย้อนไปที่รากของภาษาไทยก่อน จะเห็นได้ว่าโครงสร้างภาษาสะท้อนวัฒนธรรมบางอย่างที่ฝังลึกอยู่ในสังคม อย่างในภาษาไทยที่มีสรรพนามเยอะ มีคำแยกสำหรับแต่ละสถานะ แต่ละเพศ แต่ละฐานะโดยเฉพาะ สะท้อนให้เห็นระบบชนชั้น ความอาวุโส หรือการแบ่งเพศ บางทีตอนนี้อาจจะถึงเวลาต้องมาทบทวนกันใหม่ว่า คำบางคำยังจำเป็นหรือไม่ หรือมีอะไรที่เราเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อสังคมที่เท่าเทียม

คำแบ่งเพศ : ชวนให้ตีตราและสร้างอคติได้

บางคนอาจมีคำถามว่าทำไมพูดถึงเพศกลับกลายเป็นการเหยียดไปได้ จริงๆ แล้วเรื่องเพศสภาพควรเป็นสิ่งที่พูดถึงได้เป็นปกติใช่มั้ย? แต่ปัญหาอยู่ที่การเลือกใช้คำและบริบทต่างหาก เพราะหลายๆ สื่ออาจจะมองข้ามเรื่องนี้ไป เราเลยได้เห็นเนื้อหาที่เอนไปทางเหยียดเพศ หรือพาดหัวที่สร้างอคติอยู่เรื่อยๆ

จริงอยู่ที่ในยุคนี้เราอาจไม่ค่อยเห็นคำที่เหยียดอย่างโจ่งแจ้งอย่าง ‘สายเหลือง’ หรือ ‘ตีฉิ่ง’ แต่งานวิจัยหลายแห่งยังพบว่าหลายครั้งที่คำแบ่งแยกเพศ ถูกนำมาใช้ตีตราคนบางกลุ่มด้วยการนำเพศไปเช่ือมโยงกับสิ่งไม่ดี แถมหลายครั้งเรื่องเพศก็ไม่ใช่ใจความสำคัญของเนื้อหา แต่ถูกนำมาใช้พาดหัวในแง่ลบซะอย่างงั้น เช่น หนุ่มตุ้งติ้งบุกปล้นร้านสะดวกซื้อ หรือ จับกะเทยค้ายาบ้า ทั้งที่จริงๆ ใช้คำว่าคนร้ายก็สื่อความหมายได้เพียงพอแล้ว หรือบางสื่อเลือกใช้คำแบ่งเพศไปแปะป้ายสร้างอคติ อย่าง โรคที่ระบาดหนักในหมู่เกย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ติดได้ทุกเพศ ไม่จำเป็นต้องตีตราเพศใดเพศหนึ่ง

บางครั้งคำแบ่งเพศถูกนำมาใช้แบบผิดฝาผิดตัว เอาไปใช้เรียกคนนั้นคนนี้โดยไม่ได้คำนึงว่าเขาเป็นเพศนั้นจริงๆ ไหม ผู้หญิงบางคนที่ภาพลักษณ์ดูทะมัดทะแมง ตัดผมสั้น ก็ถูกเรียกว่าสาวทอมโดยทันที ถึงแม้จริงๆ แล้วเขาจะมองว่าตัวเองเป็นเพศหญิงก็ตาม และอีกหนึ่งความเคยชิน ที่ทำให้คำแบ่งเพศกลายเป็นคำเหยียดโดยไม่รู้ตัว เราอาจเคยได้เห็นกันบ่อยๆ บนช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจจะเป็นผลจากวัฒนธรรมเหยียดเพศในอดีต ที่บางคนก็อาจจะยังเผลอใช้ด้วยความเคยชิน เช่น เรียกคนที่นิสัยขี้ขลาดว่า ‘ตุ๊ด’ ทั้งๆ ที่เพศไหนก็ไม่ได้เป็นเครื่องตัดสินความกล้าหรือขี้ขลาดเลยสักนิด

คำแบ่งชนชั้น : สร้างภาพจำของความไม่เท่าเทียม

แค่คำหนึ่งคำ ก็สามารถแบ่งชนชั้นได้อย่างคาดไม่ถึง แม้บางครั้งอาจจะไม่ทันสังเกต เพราะที่ผ่านมาคนที่สถานะทางสังคมสูงย่อมต้องมีคำนำหน้าบอกยศเป็นธรรมดา แต่จะดีกว่า ถ้าเราใช้คำเหล่านี้เท่าที่จำเป็น ไม่สร้างภาพจำที่ยกให้คนกลุ่มไหนดูสูงกว่าคนอื่นๆ โดยเฉพาะในสื่อที่มีอิทธิพลต่อคนในสังคม

การใช้คำนำหน้าแบบที่เราเห็นในสื่อบ่อยๆ อย่าง ‘ไฮโซ’ อาจจะยกให้คนกลุ่มหนึ่งสูงขึ้นหรือมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่นไปโดยปริยาย คำนี้ไม่ได้หมายถึงแค่คนรวยเท่านั้น แต่ยังยึดโยงถึงความเป็นผู้ดีในสังคมชั้นสูงไปด้วย

‘บิ๊ก’ ก็เป็นอีกหนึ่งคำ ที่มีนัยยะแสดงถึงความยิ่งใหญ่ มียศสูงส่ง แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถเรียกชื่อคนๆ นั้นโดยบอกยศตรงๆ ไปเลยก็ได้ เพราะสามารถสื่อสารได้อย่างตรงประเด็นกว่าด้วย หลายความเห็นในโลกโซเชียลมองว่า การใช้คำว่า ‘บิ๊ก’ นำหน้าจนเคยชิน อาจสนับสนุนให้ต้องยกย่องอาชีพทหารตำรวจสูงกว่าคนอื่นๆ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเราควรให้เกียรติในทุกอาชีพสุจริต

ที่ขาดไม่ได้ก็คือคำนำหน้ายอดฮิตอย่าง ‘เสี่ย’ หรือ ‘มาดาม’ ที่สื่อมักนำไปพ่วงไว้กับกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยและมีอิทธิพล เมื่อใช้คำนำหน้าสองคำนี้ คนรับสารก็มักจะตีความไปว่าบุคคลเหล่านี้มีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นๆ ไปโดยปริยาย ส่งผลให้เป็นการสร้างภาพจำ และยิ่งตอกย้ำความไม่เท่ากันของคนในสังคมให้เด่นชัดขึ้นอีกด้วย

ที่ผ่านมาประเด็นนี้ได้ถูกนำมาถกเถียงกันหลายครั้งในโลกโซเชียล คนดังหลายคนก็ออกความเห็นเรียกร้องให้ใช้คำที่ไม่แบ่งชนชั้น ‘คุณเต็ด หรือคุณยุทธนา บุญอ้อม’ ผู้จัดคอนเสิร์ตรายใหญ่ และ ‘คุณเศรษฐา ทวีสิน’ CEO ของแสนสิริ ก็เคยออกมาพูดในประเด็นนี้เช่นกัน ว่าไม่ควรมีคำนำหน้าที่ส่งเสริมให้ใครสูงไปกว่าใคร แต่แค่ใช้ชื่อเรียกและตำแหน่งเท่าที่จำเป็นตามความเป็นจริงก็เพียงพอ และสามารถสื่อสารได้อย่างตรงประเด็นแล้ว

เลือกใช้คำยังไง ให้เท่ากัน?

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนสงสัยว่า แล้วเราต้องเลือกใช้คำยังไงดี? ที่จะไม่ไปเหยียดหรือยัดเยียดความสูงส่ง ไม่ไปสร้างภาพจำของความไม่เท่ากันโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมกันได้ แม้บางครั้งอาจยังเผลอทำตามความเคยชิน แต่การเตือนตัวเองและพยายามเปลี่ยนแปลงในทุกครั้งทีละเล็กละน้อย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการแบ่งแยก และสร้างความเท่าเทียมมากขึ้นได้

สรุปว่าการเลือกใช้สรรพนามหรือคำนำหน้าไม่ควรแบ่งชนชั้น เลือกใช้คำเพื่อระบุอาชีพหรือตำแหน่งในบริบทที่จำเป็นก็เพียงพอแล้ว เช่น ใช้คำว่า พลตำรวจฯ, เจ้าของธุรกิจ, CEO เพื่อให้คนอ่านเข้าใจบริบทว่าคนๆ นี้เป็นใคร หรือถ้าในบริบททั่วๆ ไป การใช้คำว่าคุณนำหน้าไปเลยก็จะสุภาพและเป็นกลางที่สุด

และถ้าถามว่า เรายังสามารถพูดถึงเพศของคนๆ นั้นได้อยู่ไหม? คำตอบคือได้แน่นอน เพียงแต่เลือกใช้คำที่ให้เกียรติอีกฝ่ายและนึกถึงความรู้สึกกันและกันอยู่เสมอ นอกจากนี้ในยุคนี้ก็มีคนจำนวนมากที่แสดงออกว่าตัวเองเป็นเพศไหนแม้ไม่ตรงกับเพศสภาพ และได้ออกมาแสดงความต้องการว่าอยากให้ถูกเรียกโดยสรรพนามอย่างไร ถ้าเรารู้แบบนี้ก็ควรเลือกใช้คำตามที่เจ้าตัวได้เลือกเพื่อแสดงออกถึงความเคารพในตัวตนของทุกคน

พร้อมที่จะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงแล้วใช่มั้ย? ลองมาดูตัวอย่างประโยคเหล่านี้ แล้วปรับให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น

• บิ๊ก A กำชับทุกหน่วย เข้มงวดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เปลี่ยนเป็น พล.ต.ท. A กำชับทุกหน่วย เข้มงวดแก๊งคอลเซ็นเตอร์

.

• ส่องคลังรถหรู ไฮโซ B นักธุรกิจพันล้าน เปลี่ยนเป็น ส่องคลังรถหรู คุณ B นักธุรกิจมากฝีมือ

• ดารา C เตรียมสละโสด แต่งงาน ‘สาวหล่อ’ แฟนทอมนอกวงการ เปลี่ยนเป็น ดารา C เตรียมสละโสด แต่งงานคุณ D คนรักนอกวงการ

• มาดาม E ประกาศอัดฉีดเงินรางวัลให้นักกีฬาเปตอง เปลี่ยนเป็น คุณ E หัวหน้าทีมฯ พร้อมมอบเงินรางวัลให้นักกีฬาเปตอง

• เสี่ย F ลุยแจกเงิน ช่วยชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วม เปลี่ยนเป็น คุณ F แจกเงิน ช่วยชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม

ได้คำตอบว่า พอเปลี่ยนคำให้เป็นกลางขึ้น เนื้อหาและความหมายไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ดังนั้นหันมาใช้คำที่ให้เกียรติทุกคน ไม่ยกให้ใครสูงกว่าใครจะดีที่สุด

Sansiri Live Equally เดินหน้าสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกมิติ

Pride Month, Year Of Inclusion Live Equally, Sansiri, equally, ความเท่าเทียม, แสนสิริ เพศเดียวกัน, lgbtqi+, sansiri lgbtqi+

ในเนื่องโอกาส Pride month ต่อเนื่องไปตลอดทุกเดือนทุกเทศกาล แสนสิริขอสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกมิติ กับ ‘Sansiri Live Equally‘ รวมทั้งเรื่องการใช้คำและภาษาด้วยเช่นกัน เพราะในอดีตแน่นอนว่า เราเองก็เคยพลาดใช้คำที่อาจทำให้รู้สึกไม่เท่าเทียมโดยไม่เจตนา แต่หลังจากที่เรียนรู้ และตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงได้พยายามใส่ใจในทุกข้อความที่สื่อสารออกไป ตั้งใจเลือกใช้คำที่ให้เกียรติทุกคน และพยายามไม่ให้เกิดการแบ่งแยก ไม่กดใครลงต่ำกว่าใคร

และเราจะยังคงเรียนรู้ต่อไปในทุกวัน เพื่อให้มั่นใจว่าสื่อของแสนสิริเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างความเท่าเทียม เพื่อไปถึงวันที่ทุกคนในสังคมมีความ ‘เท่ากัน’ จริงๆ

การเลือกใช้คำอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ผลกระทบมันยิ่งใหญ่จนเรามองข้ามไปไม่ได้ ดังนั้นเนื่องในเดือน Pride Month เรามาถือเป็นก้าวสำคัญในการเริ่มต้น ชวนกันใส่ใจในการเลือกใช้ถ้อยคำให้มากขึ้นเซฟใจกันและกัน และร่วมก้าวไปอีกขั้นสู่สังคมที่เท่าเทียม

CONTRIBUTOR

Related Articles

ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาผ่านโครงการ ZERO DROPOUT

Zero Dropout  เพราะ “การศึกษา” เปรียบเสมือนใบเบิกทางต่อยอดสู่อนาคต แต่กลับมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ รายได้ในครอบครัวไม่เพียงพอ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการศึกษา เด็กบางคนต้องช่วยที่บ้านทำงานจนเรียนไม่ทัน หรือขาดเอกสารในการยืนยันตัวตน ทำให้ “เด็ก” หลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษาและพลาดโอกาสในการทำตามความฝันและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น    โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” เป็นสิ่งที่แสนสิริมีความมุ่งมั่นตั้งใจริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

Wonder, วันแห่งการยอมรับความแตกต่างสากล

จักรวาลคู่ขนานของหนังทั้ง 5 เรื่อง ในวันที่ทุกคนยอมรับความแตกต่าง

เคยลองคิดกันไหมคะ ถ้าเกิดว่าคนเราสามารถยอมรับความแตกต่างของกันและกันได้ โลกนี้จะเป็นอย่างไร?  เนื่องจากวันนี้ คือ “วันยอมรับความแตกต่างสากล” (International Day for Tolerance) ซึ่งตรงกับทุกวันที่ 16 พฤศจิกายนของทุกปี กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ผู้คนตระหนักและเคารพในความแตกต่างและหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา สีผิว เพศ เชื้อชาติ ศาสนา

เสียงจากหัวใจ: บทสนทนากับ Chanisara ผู้สร้างแรงบันดาลใจผ่านตัวอักษรและกำลังใจ

ในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและข้อจำกัด บางครั้งเราต้องการเพียงกำลังใจเล็กๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ก้าวต่อไป หากคุณเป็นแฟนคลับคอลัมน์หนึ่งที่เป็นภาพตัวการ์ตูนสีสันสดสวยน่ารักๆ บนโซเชียลมีเดียของแสนสิริ วันนี้เป็นโอกาสที่ดีคุณจะได้พบกับเจ้าของคอลัมน์ส่งพลังบวกสร้างแรงบันดาลใจบนโลกออนไลน์แล้ว กับ คุณชนิสรา หน่ายมี (แบมแบม) เจ้าของคอลัมน์ ‘Mental Life by Chanisara’ ผู้ซึ่งไม่เพียงแต่เอาชนะข้อจำกัดของตัวเอง แต่ยังใช้พลังแห่งการเขียนเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น เนื่องในโอกาสวันคนพิการแห่งชาติ เรามาร่วมฟังเรื่องราวที่จะทำให้คุณมองเห็นว่า ทุกข้อจำกัดล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสใหม่ๆ