เมื่อการยึดมั่นในตัวตนแบบ “Egoism” กำลังจะถูกแทนที่ด้วย “Wegoism”
ความเป็น “พวกเรา” โดยไม่ทิ้ง “ตัวเรา” และประสบการณ์ร่วมในรูปแบบใหม่จึงตามมา
สมัยก่อนผู้คนในสังคมอาจให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ ตัดสินใครๆ จากสิ่งที่เห็นกันภายนอก แต่โลกทุกวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว เมื่อคนเราเริ่มจะลดการยึดติดกับภาพภายนอกที่ฉาบฉวย แล้วหันมาใส่ใจอะไรๆ จาก “ภายใน” มากขึ้น การตัดสินและให้ค่าคนหนึ่งคน เลยไม่ใช่แค่เรื่องรูปลักษณ์ หน้าตา สีผิว เชื้อชาติ เพศ อายุ หรืออะไรๆ ที่ตาเห็น เพราะวันนี้ผู้คนทั่วโลกมากมายพร้อมใจและเปิดใจ ที่จะยอมรับในความแตกต่าง แถมยังพร้อมที่จะปรับตัวและเปิดกว้างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่มีการแบ่งแยก
อิทธิพลหนึ่งที่ทำให้เกิดทัศนคติเหล่านี้ในสังคมก็ไม่ใช่สิ่งไกลตัวที่ไหน แต่เป็น social media นี่เอง ที่คอยเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน เพราะบนโลกออนไลน์นั้นไร้ข้อจำกัด ต่างคน ต่างสถานที่ ต่างเวลา ก็สามารถรวมตัวและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียม ขอแค่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกันก็พอ โลกแบบนี้นี่ล่ะ ที่ทำให้คนลดความเป็นปัจเจกลง พร้อมกับโหยหาการเข้าสังคมมากขึ้น
ข้อมูลจาก TREND 2019 NOW AGE: Manifesto and Action ที่ TCDC ได้ค้นคว้ามาเปิดเผยว่า ความเป็น Egoism ที่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนเอง กำลังจะถูกแทนที่ด้วยความเป็น Wegoism จากคนที่สนใจในเรื่องของ “we” หรือความเป็น “พวกเรา” ไม่ใช่แค่ตัวเราเองคนเดียวอีกแล้ว เรื่องราวเล็กๆ รอบตัวที่อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจและความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในสังคม จึงกลายเป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญมากขึ้น
กลุ่มมิลเลนเนียล มองหาแรงบันดาลใจ ค้นหาความหมายของชีวิต
มิลเลนเนียลก็คือคนกลุ่มใหญ่ของ Gen Y ที่เติบโตในช่วงการเปลี่ยนผ่านของยุคแอนะล็อกไปยังยุคดิจิทัล ทำให้คนกลุ่มนี้มีความเปิดกว้างทางความคิด และสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดาย มีทัศนคติยอมรับสิ่งใหม่ แต่ไม่ต่อต้านสิ่งเก่า เช่น การนำเครื่องรางของขลังอันศักดิ์สิทธิ์มาหลอมรวมเข้ากับแฟชั่นและนำมาสวมใส่ในชีวิตประจำวัน การดีไซน์สัญลักษณ์ความเชื่อดั้งเดิมให้ดูทันสมัยและเข้าใจง่าย
คนเหล่านี้จะผสมผสานสิ่งที่พบเจอ เพื่อลองค้นลองหาทางออกที่ลงตัวให้กับชีวิต คนมิลเลนเนียลมีความเชื่อในสังคมย่อยๆ มักใช้เวลาว่างออกไปสังสรรค์ พบปะกับกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้ชีวิต หรือทดลองเข้าร่วม workshop ที่หลากหลายเพื่อค้นหาตัวตนและค้นพบประสบการณ์ที่แตกต่าง คนมิลเลนเนียลนี่เองที่เป็นส่วนช่วยผลักดันเทรนด์ Wegoism ขึ้น ทำให้รูปแบบที่หลากหลายของสังคมตามมาด้วย ตั้งแต่กลุ่มแลกเปลี่ยนความคิด ไปจนถึงพื้นที่ที่ใครๆ ก็เข้าถึงและใช้งานร่วมกันได้
We Are the World เพราะเราเท่ากัน
ระยะหลังมานี้ เราจะเห็นว่าหลายครั้งที่แคมเปญโฆษณาต่างๆ พยายามส่งสารถึงชาวโลกว่า “เราทุกคน แตกต่าง แต่เท่าเทียม” เพื่อให้ยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีผิว เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ หรือเพศสภาพ มีการตอกย้ำอยู่เสมอว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าไม่ต่างกัน แม้กระทั่งวงการแฟชั่นและความงามที่เริ่มหันมาประกาศจุดยืนว่าคนทุกแบบสามารถดูดีได้เหมือนกัน เช่นการที่แมกกาซีนหัวใหญ่ๆ หันมาใช้นางแบบพลัสไซส์ขึ้นปก ซึ่งเรื่องพวกนี้สมัยก่อนเราคงคิดว่าเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
โฆษณาหนึ่งที่พยายามสื่อสารถึงความเท่าเทียมกันอย่างชัดเจน ต้องยกให้ “Equality” ของ NIKE ที่มีข้อความโดนใจใครหลายคนอย่าง “Opportunity should not discriminate.” หรือ “The ball should bounce the same for everyone.” นี่ก็เพื่อเน้นย้ำว่าโอกาสต้องเป็นของทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยก การตัดสินเองก็ต้องดูที่การกระทำ ไม่ใช่รูปลักษณ์ เพราะในทุกวันนี้มนุษย์เรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เราจึงต่างมองหาการอยู่ร่วมกันในสังคมที่สร้างสรรค์ เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าไม่มีใครอาศัยอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป เพราะความจริงเราอยู่บนโลกใบเดียวกันนั่นเอง
Back to the ‘Burbs’ กลับสู่ความอุ่นใจ
เพราะเราเชื่อมโยงกันได้ทุกที่ด้วยอินเทอร์เน็ต และจากความวุ่นวายแก่งแย่งในเมือง ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะมองหาแหล่งพลังงานชีวิตที่จะเติมเต็มจิตใจมากขึ้น คนเริ่มมองย้อนกลับไปหาความเป็นท้องถิ่นหรือ neighborhood ที่ยังมีเสน่ห์ของความสัมพันธ์แน่นแฟ้นอยู่ จะเห็นได้ในหลายๆ เมืองใหญ่ เช่น มหานครนิวยอร์ก ที่คนพากันเริ่มย้ายออกไปอยู่ชานเมืองมากขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องการมองหาการใช้ชีวิตในสังคมที่สบายใจผ่อนคลาย ในขณะที่ยังสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกจากที่ไหนก็ได้ด้วยอินเทอร์เน็ต
ให้ Common Space แชร์พื้นที่ใช้ชีวิต
เพราะความเป็น Wegoism ที่ผู้คนให้ความสนใจกับการอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดการแชร์พื้นที่ในรูปแบบใหม่ๆ มากมาย ทั้ง community mall ที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มเล็กๆ มาขายของร่วมกัน และ Co-working space ที่ฮิตกันหลายปีมานี้ และถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากในสังคมคนรุ่นใหม่เลยทีเดียว นอกจากนี้เรายังได้เห็นเทรนด์การใช้ชีวิตแบบ Co-living ที่แพร่หลายในหมู่ Digital nomad ทั่วโลก เนื่องจากผู้คนในยุคนี้พากันโหยหาสังคมมากขึ้นกว่าเดิม
พื้นที่แชร์กันทำกิจกรรมเหล่านี้ ยังมีการหยิบใส่ เพิ่มเติมความเป็น community เพื่อให้ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ลงไปในนั้นด้วย อย่าง JustCo ผู้ให้บริการ Co-working space ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สัญชาติสิงคโปร์ที่จับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับแสนสิริ วางกลยุทธ์ของการเป็นพื้นที่ทำงานที่แฝงด้วยความสนุกสนานบนพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อช่วยให้คนทำงานได้รู้จักและมีปฏิสัมพันธ์กัน เป็นตัวช่วยในการสร้างสรรค์ไอเดียที่น่าสนใจ และก่อเกิด connection ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจได้อีกทาง
Co-sharing space ของ XT Sales Gallery ก็เป็นอีกพื้นที่ที่สอดรับเข้ากันพอดี กับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่อยากปลดปล่อยไอเดียสร้างสรรค์ พลังแห่งความสนุก และความเพลิดเพลินถึงขีดสุด ทั้งพร้อมกันและร่วมกัน ด้วยแนวคิดการออกแบบพื้นที่แบบ Co-work/Play Space ที่เป็นทั้ง Co-working space สำหรับนั่งคิดโปรเจ็คท์ใหม่กับแก๊งเพื่อน และเป็น Game room ห้องเล่นเกม ขยับร่างกาย พักสมองแบบมันๆ ไปด้วยกันในตัว เพราะตอนนี้การสนุกอยู่คนเดียวหน้าจอคอม หรือนั่งคิด (มาก) งานในห้องที่บ้านเหงาๆ ไม่เวิร์คแล้ว
โลกเราต้องการพื้นที่แบบนี้นี่ล่ะ พื้นที่ที่พร้อมโอบกอดความเป็น “พวกเรา” โดยไม่ทิ้ง “ตัวเรา” พื้นที่ที่ไม่มีการแบ่งแยก และยังมีโอกาสให้ความเป็นอื่นได้โลดแล่นอย่างอิสระ พื้นที่ที่เปิดกว้างและพ่วงมาพร้อมการเปิดใจที่มากพอ ให้ความแตกต่างแต่เท่าเทียมมีที่อยู่ และกลายเป็นประสบการณ์ร่วมใหม่ๆ ที่น่าสนใจกว่าเดิม
ข้อมูลจาก TREND 2019 NOW AGE: Manifesto and Action โดย TCDC