เช้าๆ อันเงียบสงบของวันอาทิตย์ ที่กำลังนั่งเขียนบทความนี้อยู่ แบรนด์ Puma เพิ่งออก sneaker คอลเลคชันลดความรุนแรงเรื่อง “ปืน” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในปีนี้อย่างที่หลายคนทราบกันดี ผมสนใจข่าวนี้ เหมือนที่สนใจเรื่อง Parley เข้าไปทำกิจกรรม “ลดขยะในท้องทะเล” กับ Adidas ตลอดจนแบรนด์ “ทะเลจร” (Tlejorn) ที่ปัตตานี ได้ขยายไอเดียดีๆ เพิ่มออกมา
ปี 2018 กำลังจะผ่านเลยไป …ช่วงเวลานี้จึงน่าจะทบทวน ชายตามองย้อนกลับไปว่า มีอะไรบ้างที่เกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่น่าบันทึกจดจำไว้ แน่นอน มันมีมากมายหลายอย่างจนเกินความจำ ผมขอเลือก 10 ความชอบแห่งปี ที่อาจเหมือนกัน หรือต่างออกไปจากหลายๆ ท่าน
ถือเป็นการแชร์มุมมองกัน ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีหมู ที่ขอให้เป็น “หมูบิน” มากกว่า “หมูนอน”
1. Chaophraya Destination
ช่วงสองปีที่ผ่านมา การตลาดที่เกาะเทรนด์ “ริมน้ำ” ไม่ว่าจะเป็นโฮสเทล ร้านอาหาร หรือ ห้างสรรพสินค้าแนวคิดใหม่ สวิงตัวรุนแรงอย่างน่าสนใจ… โดยนอกจากจะขาย “อารมณ์ ความรู้สึก” ในลักษณะ nostalgia แล้ว ยังมีเรื่อง “ความเชื่อ ความศรัทธา” ในวิถีเดิมๆ เป็น story ที่อิ่มอุ่น อิ่มเอม และเอิบอิ่มอีกด้วย
ไม่สำคัญว่า “คลองสาน” หรือ “ท่าเตียน” เพราะแม่น้ำและริมฝั่งไหนๆ ก็กลายเป็น destination ได้อย่างน่าสนใจ ผมคิดว่าการที่เทรนด์ “Back in the Day” พัดมาในหลายปีนี้ ก็มีส่วนอย่างมากในการทำให้ “วันเก่าก่อนอันอ่อนหวาน” ในสังคมไทย ยังมีที่ทางอีกมาก
และ “ริมน้ำ” คือเรื่องราวหนึ่ง
2. ทีมครีเอทีฟของ “Nike”
ผมชื่นชอบทีมครีเอทีฟของแบรนด์ “Nike” ตั้งแต่ยุค Martin Lotti มาจนถึง Pete Hoppins พวกเขาสร้างสิ่งดีๆ โดย “ห่อ” Sport Marketing เข้ากับกีฬาได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Hijab custumes , Zero Waste, Sport Stripe หรือสุดยอดแคมเปญท้าทายศักยภาพมนุษย์ในการวิ่งมาราธอนอย่างโปรเจคท์ “Breaking 2”
…แต่ปีนี้ที่ top form มาก ตลอดทั้งปี คือการเล่นเรื่อง ผิวสีผ่าน Real Marketing โดยทำนายอะไรล่วงหน้าค่อนข้างแม่นยำมากกว่ามั่ว ไม่ต้องไปดูอะไรไกลมาก เอาแค่ป้ายคัทเอาท์ Colin Kaepernick กับชุด Serena Williams ก็พอ…

3. เทรนด์และชีวิตของ “สี”
ถ้าจำไม่ผิด สถาบันสี Pantone ประกาศให้ “ม่วง” เป็นสีของปี 2018 แต่ตอนนี้ สังคมไทยไม่ต้องรอสีอะไรอีกแล้ว เนื่องจากปี 2018 การค้าขายในบ้านเราทุกแวดวง นอกจากจะปรับตัวเล่นเรื่อง font ของอักษรเก่งแล้ว ยังเก่งเรื่องการใช้สี เอามาเล่นกับจิตใต้สำนึกและ “การประกาศตัวอย่างนอบน้อม” ด้วย (ยกตัวอย่างสีของร้านกาแฟ และคอนวีเนียนสโตร์) และถ้าจะเลือก “สียอดเยี่ยม” คงต้องให้คู่ชิงดวลกันระหว่าง Millennial Pink vs. Environment หรือสีชมพูพาสเทล กับสีไม้ธรรมชาติ…
4. The Wisdom Project by CNN Health
คล้ายๆ โครงการระยะยาวของ BBC Documentary เรื่อง Dementia กับภาวะสมองเสื่อมของนักฟุตบอลอาชีพหลังเลิกเล่น… CNN Health ทำ The Wisdom Project โดยใช้เวลา 12 เดือน สำรวจตรวจตราเทรนด์สุขภาพแบบคิดใหม่ และค่อนข้างครอบคลุม ทั้งเด็ก ผู้หญิง คนสูงวัย มันคล้ายๆ วิทยานิพนธ์ด้านสุขภาพ เป็นบทความน้ำดีสม่ำเสมอ แม้ว่าข้อด้อยของ CNN ตลอดเวลาก็คือ ตัวอักษรและภาพประกอบ ไม่ค่อยทันสมัยนัก

5. LAT, DINKs และแม่เสือคูการ์
ผมชอบติดตามดู สังเกตการณ์มอง เรื่องเทรนด์ไลฟ์สไตล์ทุกอย่าง รวมทั้งความสัมพันธ์ที่บิดไปมาของคนในสังคม ช่วงปี 2013 เป็นต้นมา มีรูปแบบ relationship คนยุคใหม่ (ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนรุ่นใหม่… เพราะคนยุคใหม่ อาจอายุ 60 ก็ได้) เกิดขึ้นหลายแบบ
อาทิ DINKs (Double Income No Kids) หรือคนสองคนแต่งงานกันแล้วเลือกไม่มีลูก ซึ่งทำให้เกิดกองทัพการตลาดโถมตัวทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง รถ หรือคอนโดที่อยู่อาศัยแบบ DINKs หรือ LAT (Living Apart Together) คบหากันแต่ต่างคนต่างอยู่คนละบ้าน
ทว่า ที่สนุกสุดและไม่ได้ป๊อปแต่ในตะวันตกก็คือ “Cougar Tiger” หรือแม่เสือคูการ์ อันหมายถึงผู้หญิงสูงวัยอายุ 40-60 ปี ที่ชอบคบเด็กหนุ่ม เพราะมี power ทางเศรษฐกิจ… และที่เลือกติด 1 ใน 10 ชอบแห่งปี ไม่ได้สนับสนุนหรือค้ดค้านอะไรแบบนี้ แต่ชอบ เพราะมันทำให้เกิดการตลาดต่างๆ มาเล่นกับความสัมพันธ์ 3 แบบนี้
6. สำนักพิมพ์ Penguin & Bloomsbury
อย่างที่เราทราบว่า สำนักพิมพ์เพนกวิน ใช้สีต่างๆ (เช่นเขียวและส้ม) แยกแยะหมวดหนังสือของพวกเขามานาน แต่ความดีอีกอย่างหนึ่งคือ ปีนี้ เพนกวินพิมพ์หนังสือคลาสสิคหลายเล่ม ออกมาขายในราคาที่ถูก ในยุคที่สิ่งพิมพ์ล่มสลาย การทำอะไรแบบนี้ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมมาก
อีกค่ายที่ชอบมากคือ สำนักพิมพ์ Bloomsbury ที่ดาหน้าพิมพ์ pocketbook เกี่ยวกับ sports ออกมาหลายเล่ม และเลือกเนื้อหาเข้มข้น จริงจัง อ่านยาก ไม่ว่าจะเป็น Millionaires ของ James Montague มาจนถึง Black Boots & Football Pink ของ Daniel Gray รวมทั้งหนังสือคอลเลคชันเกี่ยวกับเสื้อ หรือตราสโมสรทีมต่างๆ …ราวกับว่า สำนักพิมพ์นี้เป็น Gabriel García Márquez ของวงการกีฬาอย่างแท้จริง

7. Black Empower
ถ้าพูดแบบเล่นสำนวน สีที่แสดงอำนาจและเสียงของมัน (voice) มากสุดในปีนี้ก็คือ Black ตั้งแต่ Black Panther effect มาจนถึง Black people อันหลอมรวมอยู่ในพลังแห่ง Black power ที่ทุกวงการต้องหันมาปรับตัว ทำการตลาดกันคักคักและครักครื้น…
ไม่เว้นแม้แต่ รองเท้าเต้นบัลเลต์

8. Sharing Economy
นอกจากปีนี้ เทรนด์ Sharing Economy จะครอบคลุมชีวิตคนเราตั้งแต่ลืมตา จนถึงหัวลงหมอนแล้ว มันยังทำให้เกิดสิ่งดีๆหลายอย่างติดตามมา เช่นการแบ่งปันฟาร์มหรือ shelf ผักพวก Urban farm ในคอนโด นอกเหนือไปจากรถ หนังสือ หรือ Airbnb
แรงกระเพื่อมอีกลูกหนึ่งที่เริ่มโถมใส่ Sharing Economy ในญี่ปุ่นก็คือ Ownerless หรือการไม่เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ นั่นคือ การให้เช่า ไม่ต้องซื้อไปเป็นของตัวเอง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถ หรือหุ่นโรบอท …สังคมยุคใหม่เริ่มตระหนักว่า การพึงช่วยเหลือกันในสังคม คือสิ่งดีๆ ที่ต้องทำในชีวิตข้างหน้า

9. The Silent Airport !
ข่าว Museum airport ในยุโรป หรือ Harry Potter Airport ของเกาหลีใต้ ไม่น่าสนใจสำหรับผม เท่ากับการที่สนามบินทั่วโลกหลายแห่ง ได้ปรับตัวเป็น Silent airport โดยเฉพาะที่สิงคโปร์
ก่อนอื่นเราทุกคนก็ทราบว่า สังคมยุคใหม่ โลกยุคใหม่นั้น เป็นพื้นที่ของเสียงอันหนวกหูและรบกวนผู้คน มากกว่าสร้างสาระ จนในห้องสมุดสาธารณะ ร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือแม้แต่สวนสาธารณะบางแห่ง ยังต้องติดป้าย “งดเสียง” กันหลายแห่ง “สนามบิน” คือพื้นที่ ที่ไม่เคยเงียบมาก่อน แต่บัดนี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ใช้เสียงเท่าที่จำเป็น และถ้าต้องใช้… ใช้ให้เบาที่สุด
Serenity อาจจะเป็นการตลาด Coming soon
10. เทรนด์ Zero Waste
เป็นเรื่องน่าดีใจที่แนวทางของการลดขยะในท้องทะเล หรือการลดพลาสติก ได้รับความสำคัญอย่างจริงจังในปีนี้ จนน่าสนใจว่าในปี 2019 น่าจะเป็น policy ของหลายบริษัท …ต่อให้สิ่งเหล่านี้ จะเป็น marketing แต่ผมก็ขอยกมือโหวตว่า มันควรเป็นการตลาดที่ทำกันตลอดไป
ถ้าเป็นเรื่องที่ดี จะผูกกับการตลาด ก็ถึงเวลาแล้ว
If not us, who ?
If not now, when ?
สวัสดีปีใหม่ 2019 ทุกๆ ท่านครับ 🙂