5 คาเฟ่ พลังของความคิดสร้างสรรค์และความโดดเด่นของแนวคิดในการดำเนินธุรกิจคืออีกปัจจัยที่ทำให้บรรดาผู้ประกอบการสามารถแข่งขันและอยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายอย่างตอนนี้ได้ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อย่างร้านกาแฟหรือคาเฟ่ ก็เช่นเดียวกัน ช่วงปีที่ผ่านมา ในเมืองไทยเอง มีร้านอาหารแนว coffee bar เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ทั่วโลกก็ได้มีคาเฟ่แนวใหม่ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยคำนึงถึงกลุ่มกลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก
ลองไปดูกันว่าในต่างประเทศตอนนี้มีคาเฟ่ใดบ้างซึ่งมีแนวคิดน่าสนใจ และแนวคิดไหนพอจะนำมาปรับใช้กับเมืองไทยได้บ้าง
ญี่ปุ่น: คาเฟ่ที่สร้างจากพลังของชุมชน
คาเฟ่ที่มีชื่อว่า Day นี้ สร้างเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดยบริษัทสถาปนิกเจ้าดังของญี่ปุ่นชื่อ Schemata อย่างไรก็ตาม ความพิเศษที่ทำให้คาเฟ่แห่งนี้ได้รับการกล่าวถึง ก็คือ การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการให้ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนใกล้เคียงได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างคาเฟ่แห่งนี้
โดย Day เปิดโอกาสให้ชาวบ้านทุกเพศทุกวัยที่มาจากพื้นเพที่หลากหลายมาเข้าร่วมเวิร์คช็อปเพื่อเรียนรู้วิธีการประดิษฐ์เก้าอี้ ชั้นวางหนังสือ และโป๊ะโคม ซึ่งทั้งหมดทำมาจากวัสดุใช้แล้วแบบที่เราเรียกกันว่า (upcycled materials) และเนื่องจากเวิร์คช็อปนี้เปิดกว้างสำหรับทุกคน ทำให้สุดท้าย คาเฟ่แห่งนี้ จึงกลายเป็นพื้นที่สำหรับคนในชุมชนที่จะมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างแท้จริง
ภาพจาก www.schemata.jp
โปแลนด์: คาเฟ่เพื่อโอกาสทางธุรกิจ
เมื่อปีที่แล้ว คอนเซ็ปท์ co-working space เป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงอย่างมาก หลายธุรกิจนำแนวคิดนี้ไปใช้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะคาเฟ่ทั้งหลายที่ปรับ function ให้ได้พื้นที่เพื่อเป็นแหล่งสังสรรค์ทางความคิด ไม่เว้นแม้กระทั่ง Idea Bank สาขาใจกลางเมืองวอร์ซอว์ของประเทศโปแลนด์ ที่ถูกออกแบบให้กลายเป็นคาเฟ่และดูแลโดยบรรดาพนักงานซึ่งเป็นบาริสต้า เหตุผลที่ธนาคารเลือกออกแบบสาขานี้ในรูปแบบคาเฟ่และ co-working space นั้นเป็นเพราะต้องการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือกลุ่ม start-up โดยใช้วิธีนำเสนอเครื่องดื่ม โต๊ะทำงาน และห้องประชุมแบบฟรีๆ เพื่อให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งตามร้านกาแฟหรือคาเฟ่ทั่วไป นอกจากนี้ ยังมี wifi ปริ๊นเตอร์ และเครื่องถ่ายเอกสารให้บริการแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็น business center ย่อยๆ ที่ครบวงจรทีเดียว
ภาพจาก www.facebook.com/ideabank
สหรัฐอเมริกา: คาเฟ่ที่ปรับตัวเพื่อผู้บริโภค
หลายคนคงจะพอได้ข่าวการเปิดคาเฟ่รูปแบบใหม่ของ Starbucks กันมาบ้างแล้ว เพราะเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว Starbucks ได้เผยรูปแบบสาขาที่มีชื่อว่า Express ซึ่งมีขนาดเพียงประมาณ 50 ตารางเมตร โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ ชาวนิวยอร์กที่ต้องการความรวดเร็ว โดยสาขานี้จะไม่มีเก้าอี้ มีเพียงบาร์ซึ่งทำจากไม้และเคาน์เตอร์แคชเชียร์ โดย Express แห่งนี้จะจำกัดเมนูที่ขาย และที่แน่ๆ คือไม่มีเครื่องดื่มปั่นหรือพวกเมนูที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘blended‘ และเพื่อให้การบริการรวดเร็วสมความตั้งใจ พนักงานจะรับออเดอร์ทันทีที่ลูกค้าก้าวเข้ามาในร้านด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา
ภาพจาก www.starbucks.com
โรมาเนีย: คาเฟ่บำบัด
ที่เมืองบูคาเรสต์ของโรมาเนีย Therapy Coffee Shop ได้เปิดตัวขึ้นเมื่อกันยายน 2558 โดยมีจุดขายอยู่ที่คาเฟ่นี้เปิดเป็นพื้นที่เพื่อใช้สำหรับต้อนรับบรรดาคนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์ คาเฟ่นี้จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานต่อต้านแอลกอฮอล์และยาเสพติดของโรมาเนีย ซึ่งในคาเฟ่แห่งนี้ ลูกค้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ทางคาเฟ่จะให้บริการการบำบัดทางด้านจิตใจ ศิลปะบำบัด กิจกรรมบำบัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ คาเฟ่นี้ยังมีความน่าสนใจตรงที่ เป็นการดำเนินกิจการเพื่อสนับสนุนรายได้ให้แก่คนจน เพราะพนักงานทั้งหมดต่างมาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะดีมากนัก
ภาพจาก www.facebook.com/therapy
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์: คาเฟ่เพื่อสุขภาพ
เมื่อช่วงต้นปี 2558 ภายในนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ Museum of Future Government Services ในดูไบ บรรดาผู้ที่เข้าชมงานจะได้พบกับ PharmaCafé ซึ่งเป็นป๊อปอัพคาเฟ่ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มให้กับผู้เข้าชมงานแบบที่สร้างสรรค์ขึ้นมาตาม DNA ของแต่ละคน โดยผ่านวิธีการสแกนฝ่ามือตั้งแต่ทางเข้าของคาเฟ่
โดยรสชาติของเครื่องดื่มนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแพทย์แผนโบราณ ซึ่งใช้ส่วนผสมอย่างดอกไวโอเล็ตที่มีสรรพคุณด้านการฆ่าเชื้อ ดอกแดนดิไลออนซึ่งเป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีนชั้นดี ขมิ้นชันที่ช่วยเพิ่มการสร้างสารกระตุ้นสมอง ซึ่งถูกคัดสรรมาเพื่อรักษาและซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ จุดประสงค์ของคาเฟ่นี้ก็เพื่อจุดประกายให้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยพิพิธภัณฑ์ Museum of Future Government Services เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกลุ่มนักออกแบบ นักวิชาการของประเทศ แม้ยังไม่มีผลยืนยันว่าเครื่องดื่มเหล้านี้จะช่วยเรื่องสุขภาพได้จริงหรือไม่ แต่เทคนิคการนำเสนอนี้น่าสนใจและดึงดูดความสนใจคนได้เป็นอย่างมาก
ภาพจาก www.bompasandparr.com
ถึงแม้บางรูปแบบของคาเฟ่หรือบรรดาร้านกาแฟและเครื่องดื่ม จะพบเห็นได้บ้างในเมืองไทยหรือตามงานอีเว้นท์ต่างๆ แต่ก็ยังมีน้อยรายที่สร้างรูปแบบได้แข็งแกร่งจนอาจเรียกได้ว่าเป็น role model ของแต่ละแนวคิด คงต้องมารอดูกันต่อไปว่าในปีนี้ จะมีธุรกิจหรือผู้ประกอบการรายใดนำแนวคิดที่ใช้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ไปต่อยอดได้อย่างโดดเด่นและน่าสนใจกันอีกบ้าง