ท่ามกลางหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจบน Main Stage นั้น “eSports – The New Market for Business Opportunities” เป็นอีกหัวข้อที่มาพร้อมเรื่องราวที่น่าสนใจ
จากอีกมุมหนึ่งวงการที่คุณอาจไม่เคยรู้จักหรือพบเห็นมาก่อน โดยคุณกีรคิต ทรัพย์วิสุทธิ์ นักลงทุนจากบริษัท Mega Esports คุณอุบล ดารา Pro Player จากเกม Overwatch หรือที่รู้จักกันภายใต้ชื่อ oPuTo และคุณพันธชนก เนียมศิริ Coach ผู้ดูแลควบคุมทีม BKT จะพาคุณมาเปิดโลก ทำความรู้จักกับกีฬาน้องใหม่มาแรงอย่าง eSports ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในหมู่วัยรุ่นทั่วโลกในขณะนี้ รวมทั้งยังอาจเรียกได้ว่าเป็นทะเลที่เต็มไปด้วยขุมทรัพย์แห่งปลา ซึ่งยังไม่มีใครล่องเรือออกไปสำรวจและค้นพบมากนัก แต่รอให้ผู้ที่มองเห็นโอกาสได้ออกไปล่องเรือจับปลาเป็นลำแรกๆ ก่อนใครอยู่ก็เป็นได้
e-Sports คืออะไร?
แท้จริงแล้ว “e-Sports” ก็เป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ที่ความเก๋อยู่ที่มีการแข่งขันผ่านการใช้ Computer Game เช่น Counter Strike, Overwatch หรือแม้แต่ LOL แถมในการแข่งขันแต่ละครั้งก็ยังมีผู้ชมจากทั่วโลก เข้ามาชมผู้เล่นแบบตอนนั้นเดี๋ยวนั้นผ่านแพลตฟอร์ม “Twitch” ซึ่งนิยมมากในแทบอเมริกา มีลักษณะคล้าย Youtube แต่เน้นการถ่ายทอดสด หรือ Livestream มากกว่า ส่วนจำนวนผู้ชมก็ไม่เท่าไหร่ แค่สัปดาห์ละราวๆ 100 ล้านคนเท่านั้นเอง
สิ่งสำคัญของ e-Sports ที่จะขาดไปไม่ได้เลย ก็คือการแข่งขันของแต่ละคนหรือแต่ละทีมที่มีทั้งการวางแผน และการต่อสู้โดยใช้สกิลของผู้เล่น
eSports เป็นเรื่องของเด็กติดเกมหรือเปล่า?
e-Sports ไม่ใช่เรื่องของเด็กติดเกม แต่เป็นเสมือนคนทำ Digital Content และยังเป็น Gamer มืออาชีพมากกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่คนจริงจังกันระดับนานาชาติ การแข่งขันมีไปจนถึงระดับมืออาชีพ โดยผู้เล่นก็เป็นเสมือนนักกีฬาทั่วไป ซึ่งต้องมีตำแหน่งโค้ชผู้ดูแลการฝึกซ้อม ดูตารางเวลาของตัวผู้เล่น รวมทั้งดูแลแม้กระทั่งด้านโภชนาการและด้านอารมณ์ของผู้เล่นด้วย เพื่อให้ผู้เล่นดึงศักยภาพออกมาใช้ได้ให้มากที่สุด เรียกได้ว่าถ้าอยู่ในรายการ The Face โค้ชเหล่านี้ก็คือ Mentor นั่นเอง
กลุ่มเป้าหมายคือใคร ใครชม eSports?
กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชม e-Sport อยู่ที่อายุประมาณ 15-25 ปี และอาจไปถึง 30 ก็ยังได้เช่นกัน
แต่อย่าคิดว่า e-Sports เป็นเรื่องของผู้ชายแบบร้านเกมในอดีต ที่มีแต่ผู้ชายเท่านั้น เพราะความจริงแล้วผู้หญิงเองก็ชม e-Sports เป็นจำนวนมากถึง 80-90% เลยทีเดียว
เนื่องจากผู้เล่นไม่ได้ขายเพียงฝีมือ แต่ขายบุคลิก หรือ Personality และความบันเทิงให้ผู้ชมด้วยเช่นกัน ผู้เล่นจึงเป็นเสมือนดาราในโลก e-Sports ด้วย
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนลงทุนใน e-Sports?
e-Sports ถือเป็นวงการที่มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจมาก โดยเฉพาะในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ ที่มีมูลค่าตลาดสูง แม้ว่าสำหรับในประเทศไทยจะยังมีผู้สนใจกีฬาชนิดนี้ เพียง 1.2 ล้านคน แต่ตอนนี้ e-Sports ถูกประกาศเป็นกีฬาแห่งประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหลังจากนี้ ก็จะทำให้มีผู้หันมาสนใจ e-Sports มากขึ้นด้วยเช่นกัน ยิ่งหากดูจากตัวเลขของผู้ชมผ่าน Twitch แล้ว จะพบว่ามีมากถึง 100 ล้านคนต่อสัปดาห์เลย
นอกจากนี้ อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ รายได้ของ e-Sports จากตลาดทั่วโลกพุ่งสูงถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ แค่รายได้จากการแข่งขันทั้งหมดเพียงอย่างเดียวก็อยู่ที่ 111 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว แต่ถ้าถามว่ารายได้เหล่านี้มาจากไหนกัน ก็บอกได้เลยว่ามาจากหลายช่องทางมาก ไม่ว่าจะเป็นจากสปอนเซอร์ที่คอยสนับสนุนการแข่งขัน การขายเสื้อ หรือแม้แต่การซื้อขายตั๋วเข้าไปชม ก็ทำเงินได้ไม่น้อยเลย
ลงทุนใน e-Sports จะได้อะไรกลับมาบ้าง?
ในแง่อนาคตที่มุ่งไปสู่การสร้าง Ecosystem ให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะรวมไปถึงการปั้นเด็กไทยไปแข่งระดับโลก การสร้าง Academy Platform เพื่อสอนเด็กรุ่นถัดไป และการสร้าง Content ซึ่งสำคัญมากสำหรับ Media ยุคนี้ โดย Content ของ eSports จะเน้นเจาะกลุ่มคนยุคใหม่โดยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้นี่เอง ที่ถือเป็นโอกาสทางการลงทุนใหม่ๆ ในแวดวง eSports
ถ้าสนใจจะเริ่มลงทุนได้อย่างไร?
หากมองถึงการเริ่มต้นลงทุนอาจจะมีความเสี่ยงเล็กน้อยสำหรับใครไม่เคยรู้จัก หรือทำอะไรในวงการนี้มาก่อน และอาจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญช่วยในการตัดสินใจ ส่วนหากจะลงทุนในแง่การโฆษณา ซึ่งสามารถติดต่อผ่านตัวนักกีฬาหรือผู้เล่นได้เลย โดยผู้เล่นจะปรึกษาและขออนุญาตจากต้นสังกัดอีกครั้ง
นอกจากนี้ การลงทุนอาจเป็นไปในแง่การสนับสนุน Streamer ที่แม้เป็นเพียงผู้เล่นที่ไปถ่ายวิดีโอขณะเล่นเกม และมีการบรรยายหรือสร้างความบันเทิงไปด้วย ไม่ใช่การแข่งขัน e-Sports แต่ก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการสร้างคุณค่าและเพิ่มผู้ติดตามให้ผู้เล่น e-Sports เช่นกัน
เนื่องจากเมื่อมีผู้ติดตาม ผู้เล่นจะกลายเป็น Influencer ที่มีผู้ต้องการสนับสนุน โดยอาจพาไปออกโฆษณา หรือบางครั้งผู้เล่นเหล่านี้ก็อาจโชคดีได้เงินสนับสนุนจากผู้ที่ชื่นชอบตน เพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของตนใหม่แบบฟรีๆ แล้ว Livestream ให้ผู้สนับสนุนเหล่านั้นดูก็เป็นได้ โดยที่เมื่อมีการ Subscribe ใน Twitch ผู้ชมจะต้องจ่ายเงินขั้นต่ำ 5 เหรียญ เพื่อเข้าไปชมการแข่งขัน พร้อมรับสิทธิพิเศษจากแต่ละผู้เล่น และผู้เล่นเองก็จะได้เงินส่วนหนึ่งจากตรงนี้ด้วยเช่นกัน
แม้ว่าในขณะนี้ประเทศไทยจะมีการลงทุนในธุรกิจด้านนี้ไม่มาก แต่ e-Sports ก็กำลังจะเข้าเป็นหนึ่งกีฬาใหม่ในเอเชียนเกมส์ รวมถึงโอลิมปิกในปี 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย หากใครที่คิดว่า e-Sports ก็เป็นแค่การเล่นเกมของเด็กวัยรุ่น ต้องเปลี่ยนความคิดด่วน เพราะ e-Sports ก้าวไกลกว่าระดับ Premier League ด้วยการมีผู้ชมมากกว่า NBA ไปเรียบร้อยแล้ว
สามารถชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ คลิก