ถ้าไม่ใช่ปีนี้ ก็คงไม่พ้นปีหน้า ที่มนุษย์คนแรกจะทำในสิ่งที่ “ไม่เคยมีใครเชื่อ” เกี่ยวกับ “การวิ่ง” นั่นคือ วิ่งมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ด้วยเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง! นั่นหมายความว่า สถิติที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาที ของ Eliud Kipchoge จากเคนยา มีความเป็นไปได้สูงมากเหลือเกิน ที่เขานั่นแหละจะเป็นผู้ทำลายตัวเลขนี้
สำหรับท่านที่ไม่ได้สนใจเรื่องราวการวิ่งนั้น ผมต้องเล่าเบาๆ ย้อนหลังว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว Nike คิดแคมเปญ Breaking2 ด้วยการท้าทายว่า การวิ่งฟูลมาราธอนในเวลา “ไม่ถึง” 2 ชั่วโมงนั้น คนทำได้!
แรกๆ ก็ไม่มีใครเชื่อหรอกครับ แต่พอเวลาต่างๆในการวิ่ง มันเร่ิมน้อยลงเรื่อยๆ ความคิดนี้ก็น่าสนใจ และเมื่อคิปโชเก วิ่งเกินไป 1 นาที 40 วิ น่าสนใจจริงๆ ว่า สนามวิ่งหลักๆที่ถูกรับรอง เขาจะทำได้สนามไหน (ก่อนหน้านี้ เขาทำได้ 2 ชั่วโมงกับ 57 วิ แต่นั่นเป็นการวิ่งไม่เป็นทางการ จึงไม่ถูกยอมรับ)
“คิปโชเกเอฟเฟกต์” ไม่ต่างอะไรกับ “ตูนเอฟเฟกต์”
ทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะวิ่งด้วยความหมายของอะไร ใช่มาราธอนและมากกว่ามาราธอน ต่างได้สร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้คน ให้คนทั้งประเทศ และใครอีกมากอยากจะออกมาวิ่ง! และถ้าใครๆ อยากจะวิ่ง คุณก็มีตัวเลือกเยอะมาก เพราะตลอดปี 2019 นี้ มีงานวิ่งรวมกันทั่วไทยที่ 1,500 งาน
เรียกว่า เงินอาจไม่ได้เฟ้ออย่างเดียว… ภาวะการวิ่งอาจจะ “เฟ้อ” เป็นเพื่อน
ถ้าคิดทีเล่นทีจริง หรือจะตอบแบบทีจริงมากกว่า “ทีเล่น” เราก็อาจตั้งคำถามลอยๆ ว่า ทำไมคนจึงมาวิ่งกันมากมาย ถึงขนาดมีการสรุปว่า ทุกๆ คนไทย 5-6 คน จะมี 1 คนที่ออกมาวิ่ง หมายความว่า วิ่งแถวบ้าน วิ่งเอง และร่วมวิ่งกิจกรรมมาราธอนอย่างน้อย 1 งาน แน่นอนว่า ในแง่ของธุรกิจ การหากำไรจากงานแบบนี้ ได้มากกว่าเสีย กำไรมากกว่าขาดทุน และอยู่รอดมากกว่าตาย ในคำตอบ “อยู่รอดแบบสุขภาพดีเสียด้วย”
เราจะตัดเทรนด์การวิ่งแบบต่างๆ ไป โดยไม่พูดถึงในที่นี้ ไม่ว่าจะเป็น Fartlek, Interval หรือ Tempo Run แต่อยากจะเชิญชวนมาร่วมมองว่า ทำไมการวิ่งถึงบูมมาก?
ย้ายจากอวด “จานอาหาร” มาเป็นโชว์ “ชุดวิ่ง”
ประการแรก, มันคือช่องทางของการโชว์หรืออัพสเตตัส การมาวิ่งนั้นดีแน่นอน แต่ก็ยอมรับว่า มันก็คือการ “โชว์ไลฟ์สไตล์” แบบหนึ่ง และไลฟ์สไตล์ที่เป็นเทรนด์การออกกำลังกายในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ “วิ่ง” ซึ่ง running และ runner นั้น …ก็ล้วนมี message ในการวิ่ง แตกต่างกันไป
เช่น วิ่งเพื่อเป็นแฟชั่น ร่วมกิจกรรมกับคนยุคนี้, การวิ่งถือว่าคุณทันสมัย ใส่รองเท้าอะไร สวมเสื้อวิ่งสีไหน แบรนด์อะไร เครื่องประทินโฉมข้อมือ ศรีษะ ขาและแขน สุดแล้วแต่จะขุดอะไรมาใส่ และถ่ายรูป เพื่อนผมที่ทำงานบางคนมีครบพร็อบ แต่ไม่วิ่ง ออกแนวเดินตากสายลมแสงแดด และกลับบ้าน
แต่รูปในเฟส ในไอจี ทวิตเตอร์ คนตามหลายหมื่น!
ภาพสวยๆ จากการวิ่ง ได้ “เคลื่อนย้าย” จากการกินข้าว จานสวยๆ มาเป็น “ชุดวิ่ง” เหงื่อไคลแทน “จานอาหาร” และ “กล้ามเนื้อ” แทน “เมล็ดข้าว”
ธีมก็ต้องมี ภาพลักษณ์ดีๆ ก็ต้องมา
ข้อที่สอง, นิตยสาร Good Life ฉบับภาษาฝรั่งเศส เคยลงข่าวว่า เทรนด์ใหม่ของ CEO องค์กรต่างๆ ทั่วโลก มักลงมาออกกำลังกาย อย่างน้อย ถ้าประธานมีเหงื่อไหลไคลย้อยจากการ Exercise บริษัทก็อาจรู้สึกสดชื่น กระชุ่มกระชวยไปด้วย …การที่องค์กรอยู่ในเทรนด์กีฬา ทำให้มีภาพลักษณ์ที่ดี และถ้าจริงจังในระยะยาว ไม่ใช่ตีหัวเข้าบ้าน แบรนด์ก็มีมุมนี้ให้สังคมจับต้องได้
นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมแบรนด์ประกันชีวิตต้องมี “วิ่งไป เต้นไป”, แบรนด์มือถือเคยมี Virtical Run, แบรนด์สตาร์ทอัพมี “ฟาร์มรัน” หรือแบรนด์โรงหนัง ต้องมี Lady Run
การที่สินค้าต่างๆ ลุกขึ้นมาสร้างการวิ่ง สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องสร้างด้วยคือ ธีมการวิ่ง! ไม่ใช่วิ่งไปงั้นๆ วิ่งไปวันๆ เพราะถ้าไม่มีหัวข้อการวิ่ง เพื่อขาย “อารมณ์-ความรู้สึก” ของคนวิ่ง ชนชั้นกลาง หรือ mass สีสันของการวิ่ง ก็อาจอายุสั้น เหี่ยวเร็ว และหมดแรง
ทว่า มีธีม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดหน้าที่…
ตอบ “จริต” นักวิ่ง
เรื่องที่สาม, ผมค่อนข้างเชื่อว่า สังคมทุกสังคมล้วนมี manners หรือ “จริต” ของตัวเอง แม้จะงานวิ่งมากมายพันกว่างาน แต่ผู้จัดต้องเข้าใจคนวิ่งด้วย ใน 100% ของนักวิ่ง มีเพียง 10% ที่วิ่งจริงจัง วิ่งต่อเนื่องนานๆ หลายปี เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้จัดงานการวิ่ง ต้องเข้าใจเนื้อหา เข้าใจอุปนิสัย นักวิ่งแบบบ้านเรา (โดยเฉพาะพวกขาจร)
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม หลายงานวิ่งต้องมี 3-5 กิโล ยืนพื้นรองรับ แทบจะเป็น “ตัวละครหลัก” ของงานวิ่ง ส่วน 10 กิโลเป็น “พระเอก” ของงาน เพราะคนไทยแม้จะวิ่งเก่งหลายคน แต่แกนหลักยังคงอยู่ที่ 10 กิโล กำลังดี
มีเรื่องที่น่าสังเกตต่อไปอีกว่า ฉากหลัง เครื่องประกอบอารมณ์การวิ่ง ที่อายุยืน นอกจากจะมีธีมชัดเจนแล้ว การวาง “สิ่งละอัน พันละน้อย” ในระหว่างทางวิ่ง มีความสำคัญมาก
การวิ่งผ่านฟาร์ม ท้องทุ่ง ชนบท จึงมีความน่าสนใจ มากกว่าวิ่งริมถนนสูบควันรถ หรือเสี่ยงกับยานพาหนะที่อยู่ใน “เลนที่สอง” …การวิ่งริมแม่น้ำ ก็ทำให้นักวิ่ง ดื่มด่ำกับ “ชั่วขณะหนึ่ง” ไม่ถึงกับ somewhere over the rainbow แต่ก็พาเขาและเธอ ให้กลับมาสู่สนามวิ่งในครั้งต่อๆ ไป
จะเห็นว่าสามแง่มุมที่ผ่านมา มี subtext หรือ message ที่ซ่อนและซ้อน อยู่ในการไปวิ่งของคน และเผลอๆ “เหงื่อไคล” กลายเป็นประเด็นรอง หรือเรื่องที่เล็กที่สุด
แต่ผมชอบข้อที่สี่ ครับ
สักครั้งในชีวิตของการเป็น Winner
ผมว่าการวิ่งงานต่างๆ มีเป้าหมายในการวิ่งเพื่ออะไรไม่เหมือนกัน คนที่เป็น loser ในสังคม วันหนึ่งการวิ่งเข้าเส้นชัย ทำได้ ของใครบางคน อาจทำให้เขาเป็น winner ในชีวิต คล้ายๆ นักวิ่งในปี 1984 ที่หกล้มกลางทาง และวิ่งไม่ไหว เขาก็เลือกจะเดินเขยก ให้ถึงเส้นชัย
เพราะการออกจากลู่วิ่ง ในขณะที่ทุกคนเข้าเส้นชัยไปหมดแล้ว มันง่าย
แต่นักวิ่งคนหนึ่งเลือกจะเดินขาเป๋ เพื่อถึงเส้นชัย เพื่อบอกตัวเองว่า “เราทำได้”
นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมในช่วงเวลาหนึ่งนานมาแล้ว คำพูดที่ว่า คนเราควรมี Full Marathon ครั้งหนึ่งในชีวิต …จะวิ่ง เดิน หรือคลาน เราก็ควรลองดีสักครั้ง
วิ่งจึงไม่ใช่แค่ก้าวขา เหมือนที่ Titanic เอย Green Book เอย คว้าออสการ์… ก็ไม่ใช่แค่หนัง
ภาพที่ คิปโชเก วิ่งเข้าเส้นชัยแล้วมีคนผิวสี ออกมาฉลองดีใจ มันเป็นเรื่องของเผ่าพันธุ์ ชาติพันธุ์
วิ่งไปใน “ฝุ่นและควัน” วิ่งไปใน “ถนนและเมือง”
หรือจะสู้…วิ่งไปใน “สุขและทุกข์ ฝันและหวัง”.