เชื่อว่าทุกคนที่กำลังวางแผนซื้อบ้าน ต้องมีบ้านในฝันของตัวเองอยู่แล้ว…
ปัญหาคือถ้าได้วงเงินกู้ไม่เพียงพอ หรือยื่นกู้ไม่ผ่านขึ้นมา บ้านหลังนั้นคงหลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย แต่อย่าเพิ่งหมดหวังกัน! เพราะปัญหานี้มีทางออก
“การกู้ร่วม” นี่เอง คือทางออกที่จะทำให้บ้านในฝันเป็นของเราได้ง่ายขึ้น แล้วการกู้ร่วมต้องทำยังไง มีเทคนิคยังไงบ้าง Sansiri Blog มีคำตอบ
กู้ร่วมคืออะไร?
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักการกู้ร่วมกันก่อน “การกู้ร่วม” คือการร่วมเซ็นสัญญายื่นกู้ทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน และผู้กู้ร่วมก็คือผู้ที่จะมาร่วมรับผิดชอบภาระหนี้กับเรา หรือพูดง่ายๆ คือช่วยเราผ่อนบ้านนั่นเอง
พอเรามีผู้กู้ร่วมแล้ว ธนาคารก็จะประเมินความสามารถทางการเงินของเราสูงขึ้น และวางใจว่าเราจะผ่อนชำระค่าบ้านได้ตามสัญญา
ข้อดีของการกู้ร่วม
การกู้ร่วมมีข้อดีหลายอย่างเลย อย่างแรกเลยคือธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น ดังนั้น ถ้าเราอยากซื้อบ้านที่ราคาค่อนข้างสูง การกู้ร่วมก็เป็นตัวช่วยที่ดีมาก ต่อมาคือเราจะได้วงเงินสูงขึ้น เพราะธนาคารจะนำรายได้ของผู้กู้ร่วมมาพิจารณาด้วย จึงได้วงเงินที่สูงกว่าการกู้คนเดียว
นอกจากนี้แล้ว การกู้ร่วมยังช่วยกระจายความเสี่ยงด้วย เพราะเราไม่ต้องแบกภาระหนี้คนเดียว ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ก็ยังมีคนช่วยกันแบ่งเบาได้
เรากู้ร่วมกับใครได้บ้าง?
รู้ข้อดีแบบนี้แล้ว เรามาเริ่มหาผู้กู้ร่วมเลยดีกว่า ไปดูกันว่าตามเงื่อนไขของธนาคารแล้ว มีใครบ้างที่สามารถมาเป็นผู้กู้ร่วมของเราได้
1. คนที่นามสกุลเดียวกับเรา เช่น พ่อแม่ ลูก พี่น้อง
2. สอง พี่น้องที่มีพ่อแม่คนเดียวกัน แต่คนละนามสกุลก็ได้
3. สาม คู่สมรส แต่จะจดหรือไม่จดทะเบียนก็ได้เช่นกัน
4. แฟนที่ยังไม่ได้แต่งงาน ทั้งคู่ชายหญิงและ LGBTQ+
ที่สำคัญคือไม่ว่าจะกู้ร่วมกับใคร ควรคุยกันให้ดีก่อนตัดสินใจกู้ร่วมกัน เรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจตรงกันตั้งแต่แรก คือ ใครจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์บ้าน ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะใส่ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์คนเดียว หรือให้ผู้กู้ทุกคนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
อีกประเด็นสำคัญ คือการกู้ร่วมไม่ใช่การหารหนี้เท่ากัน ดังนั้น ถ้าผิดชำระหนี้ ธนาคารมีสิทธิ์จะเรียกเก็บหนี้จำนวนเต็มจากผู้กู้ร่วมคนไหนก็ได้
ส่วนเรื่องสิทธิ์ลดหย่อนภาษี ผู้กู้จะได้เท่ากันทุกคน โดยจะได้รวมกันไม่เกิน 1 แสนบาท และถ้ามีผู้กู้ร่วมเสียชีวิต ต้องแจ้งทางธนาคารด้วย เพื่อมอบหมายให้ทายาทของผู้เสียชีวิตมารับช่วงต่อผ่อนชำระ
เอกสารสำหรับกู้ร่วม
พอได้ผู้กู้ร่วมเรียบร้อย ก็ต้องเตรียมเอกสารสำหรับการยื่นกู้ เอกสารที่ต้องเตรียมมี 3 หมวดด้วยกัน ขอเน้นว่าเอกสารทั้งหมดนี้ ต้องเตรียมทั้งของตัวเราเองหนึ่งชุด และของผู้กู้ร่วมด้วยอีกหนึ่งชุด
หมวดที่หนึ่ง คือเอกสารส่วนตัว ได้แก่
1. สำเนาบัตรประชาชน
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. ถ้าเคยเปลี่ยนชื่อ ก็ต้องมีเอกสารการเปลี่ยนชื่อ
4. ถ้าสมรสแล้ว ก็ต้องใช้เอกสารการสมรสด้วย
5. หลักฐานแสดงความสัมพันธ์ของผู้กู้ทั้ง 2 คน เช่น ทะเบียนสมรส ภาพงานแต่ง หรือหนังสือรับรองบุตร
หมวดที่สอง คือเอกสารการเงิน
ถ้ามีรายได้ประจำ ต้องเตรียมเอกสารตามนี้เลย
1. หนังสือรับรองเงินเดือน
2. สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
3. Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
ส่วนคนที่ทำฟรีแลนซ์ หรือเป็นเจ้าของกิจการ ต้องเตรียมเอกสารดังนี้
1. สำเนาทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์
2. หนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ทวิ 50
3. หลักฐานการเสียภาษี
4. ประวัติเครดิตบูโร
5. Statement บัญชีเงินออม 6-12 เดือน
หมวดที่สาม คือเอกสารสินทรัพย์ ได้แก่ สำเนาสัญญาซื้อขายบ้าน และอาจมีหลักฐานที่ธนาคารจะขอเพิ่มเติม ตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร เช่น บางธนาคารอาจขอรูปถ่ายและแผนที่ตั้งของบ้านเพิ่ม อย่างไรก็ตามก่อนจะยื่นกู้ อย่าลืมรีเช็กเอกสารกันให้ดี เพราะถ้าเรามีเอกสารครบถ้วน ก็จะยิ่งได้อนุมัติเร็วขึ้น
การกู้ร่วมสำหรับคู่รัก LGBTQ
สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่อยากมีบ้าน ไม่ต้องกังวลว่าจะกู้ไม่ได้ เพราะปัจจุบันมีหลายธนาคารที่ยินดีอนุมัติสินเชื่อให้กับคู่รักเพศเดียวกัน นั่นก็คือ
1. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
2. ธนาคารกสิกรไทย
3. ธนาคารไทยพาณิชย์
4. ธนาคารยูโอบี
5. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
ซึ่งโดยรวมแล้ว เงื่อนไขและขั้นตอนการกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQ+ แทบไม่ต่างจากคู่รักชาย-หญิง เพียงแต่มีเอกสารที่ต้องเตรียมเพิ่มขึ้นมา 4 อย่างได้แก่
1. เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน ระบุความสัมพันธ์ในใบสมัครว่า “คู่รัก”
2. ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน (ถ้ามี)
3. เอกสารการกู้ซื้อรถยนต์ร่วมกัน (ถ้ามี)
4. รูปภาพยืนยันความสัมพันธ์
ทั้งนี้ แต่ละธนาคารอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไป แนะนำให้ปรึกษาทางธนาคารก่อน
กู้ร่วมกับคนรัก เมื่อเลิกกันต้องทำยังไง?
มาถึงคำถามที่หลายคนสงสัย ถ้าเรากู้ร่วมกับคนรัก แต่ดันเลิกกันก่อนผ่อนหมด จะทำยังไง? ทางออกคือเราสามารถถอนชื่อคู่รักที่กู้ร่วมได้ โดยทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันก่อนว่าจะให้ใครเป็นคนถือกรรมสิทธิ์บ้านต่อไป จากนั้นก็แจ้งถอนชื่อกับธนาคารได้เลย
แต่ในกรณีที่ธนาคารประเมินว่าเราชำระหนี้คนเดียวไม่ไหว ธนาคารอาจจะไม่ยอมให้ถอนชื่อได้ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่นแทน เพื่อเปลี่ยนจากกู้ร่วมมาเป็นกู้เดี่ยว
หรืออาจจะเลือกขายบ้านไปเลยก็ได้ แต่ก่อนจะขายได้ ต้องได้รับการยินยอมให้ขายจากทั้ง 2 ฝ่ายก่อน
ถ้าอยากกู้ร่วมต้องทำยังไงบ้าง แต่ถ้ายังไม่มั่นใจเรื่องกู้ซื้อบ้าน หรืออยากได้คำแนะนำเพิ่มเติม แสนสิริเราก็มีบริการ Sansiri Home Financial Planner ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่จะคอยให้คำแนะนำและดูแลคุณตลอดการกู้ซื้อบ้าน